ประชาธิปไตยของไทยเป็นประชาธิปไตยแบบตระหนี่

      จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยในแนวคิดแบบประชาธิปไตย ซึ่งปัจจุบันในยุคโลกาภิวัฒน์เป็นโลกกว้าง สังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง และให้สิทธิแก่ประชาชนในฐานะพลเมือง ยิ่งมีปัญหาความเป็นประชาธิปไตยยิ่งเปิดกว้าง เช่นประชาธิปไตยของสหร้ัฐอเมริกาสามารถแก้ปัญหาเรื่องการรังเกียจผิว เช่นคนผิวดำจะไม่ค่อยได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกับคนผิวขาว  แต่ในปัจจุบันสามารถละลายความแตกต่างหลากหลายและสามารถสร้างความกลมกลืนระหว่างคนผิวขาว และผิวดำได้สำเร็จ เช่นสามารถเรียนที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยด้วยกันได้,เป็นเพื่อนกันได้,แต่งงานกันได้,มีสิทธิเท่าเทียมในการจ้างงาน จนกระทั่งสามารถเป็นประธานาธิบดีได้  ในขณะที่ประเทศไทยปรากฎว่าประชาธิปไตยกลับมีลักษณะคับแคบไม่เปิดกว้างในด้านความแตกต่างหลากหลาย ทั้งนี้ปรากฎการณ์ของการเมืองไทยมีลักษณะดังนี้
        1. การปกครองแบบประชาธิปไตยมีลักษณะคับแคบโดยให้ความสำคัญกับชนชั้นสูง,ชนชั้นกลาง แต่ไม่สามารถกระจายไปยังประชาธิปไตยเพื่อชาวรากหญ้าได้ ในลักษณะการยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
        2. ประชาธิปไตยที่คับแคบในแง่มุมที่มีบุคคลบางกลุ่มได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากประชาชน และฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาสู่แนวรัฐธรรมนูญแบบคับแคบในปี 2550 และได้วางหมากเป็นประชาธิปไตยเพื่อขุนนางข้าราชการมากกว่าเป็นประชาธิปไตยของคนหมู่มาก และทวนกระแสความต้องการของประชาธิปไตย  ทำให้รัฐธรรมนูญมีการผสมความคิดของกลุ่มชนข้าราชการทหาร และขุนนางวิชาการ รวมทั้งบรรดาเอ็นจีโอที่มุ่งเงินมากกว่าหลักการ
       3. ประชาธิปไตยคับแคบทำให้รัฐธรรมนูญเขียนล้อมกรอบ และเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลบางกลุ่มที่กุมอำนาจ  ส่งเสริมให้คนกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลางเกิดความเบื้อหน่ายทางการเมืองอันเนื่องจากกฎหมายเขียนอย่างไม่เป็นธรรมทำให้เกิดความขัดแย้ง และก่อให้เกิดการขัดแย้งลุกลามไปถึงท้องถนน แทนที่การเขียนกฎหมายที่ไม่เลือกปฏิบัิติและให้ความเป็นธรรม ทำให้ สส. หรือพรรคการเมืองปฏิบัติงานหรือทำความเจริญให้กับบ้านเมืองได้ยากยิ่ง ทำให้นักการเมืองกลายเป็นตัวตลก หรือหุ่นกระบอก เป็นการทำลายความเป็นนักการเมืองของประชาชน และกลุ่มบุคคลเหล่านั้นก็จะเข้ามาผูกขาดอำนาจได้  เหมือนกับการปลูกบ้านที่คนอยู่ด้วยกัน คนกลุ่มหนึ่งอยู่บ้านกว้างขวาง,สุขสบาย แต่คนอีกชนชั้นหนึ่งต้องอยู่บ้านที่แออัด และสิทธิในบ้านไม่เท่าเทียมกัน
       4. รัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้มีการแต่งตั้งบุคลากรทำหน้าที่ในองค์กรอิสระในหลายรูปแบบซึ่งกลับไม่ใช่องค์กรอิสระ แต่กลายเป็นองค์กรเฉพาะกลุ่มบุคคลเท่านั้น ทำให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม หรือเอาใจตอบแทนบุญคุณกับบุคคลที่แต่งตั้ง แต่กลับไม่สนใจหรือยอมรับอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง  เช่น กกต. 5 เสือนั้นซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยนิดแต่กลับมาตัดสินใจแทนอำนาจของประชาชน 20 กว่าล้านคน ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับองค์กรอิสระเหมือนกับเช่นทุกวันนี้   ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายิ่งแก้รัฐธรรมนูญก็ยิ่งริดรอนอำนาจของประชาชน
เท่ากับใช้คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตัดสินคนมาจากการเลือกตั้ง
       5. ความคับแคบของประชาธิปไตย ทั้งที่โลกกว้างแต่เส้นทางประชาธิปไตยกลับคับแคบทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพ รวมทั้งคับแคบทางด้านจิตวิญญานประชาธิปไตย   บุคคลที่จะทราบซึ้งต่อประชาธิปไตยมากที่สุดก็คือประชาชนผู้ยากไร้ เพราะเขาอยู่กับชีวิตจริง, ลำบากจริง,เดือดร้อนจริง ฯลฯ แต่ผู้ได้รับอภิสิทธิชนกลับได้ทุกสิ่งทุกอย่างอย่างง่ายดาย ทำให้เห็นช่องว่างทางสังคม ความคับแคบส่งผลให้การเข้าถึงบุคคลที่มีอำนาจได้ยากขึ้น, การแก้ปํญหามีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ แต่ไม่ได้กระจายอำนาจอย่างแท้จริง และเป็นธรรมชาติของอภิสิทธิชนย่อมมีความพึงพอใจกับอำนาจ,เกียรติยศ,ตำแหน่ง และการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติในฐานะผู้ได้เปรียบทางสังคม แต่กลับทอดทิ้งผู้ที่ยากจนหรือรากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ  ความคับแคบทำให้คนไทยยากจนลง ส่วนคนกลุ่มน้อยร่ำรวยมากขึ้น  ก่อให้เกิดปัญหาช่องวางทางสังคมอย่างกว้างขวาง
       6. ความคับแคบในการบริหารจัดการ แม้กระทั่งการบริหารงานทั้งภาครัฐและเอกชนกับมีการบริหารที่เลือกปฏิบัติ กล่าวคือเกิดจากระบบอุปถัมภ์เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การทำงานไม่ได้เน้นประสิทธิภาพ,คุณภาพ มีการเอารัดเอาเปรียบเรื่องค่าแรงงานกรรมกรผู้ใช้แรงงาน, ผู้ที่จบการศึกษา ในขณะที่ข้าวของแพงขึ้น นายทุนร่ำรวยมากขึ้นแต่เรื่องค่าแรงงานที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตกับใจไม่กว้างพอที่จะช่วยเหลือเขา  แต่กลับไปช่วยพรรคการเมืองหรือยอมเสียใบเบี้ยรายทางแก่ผู้มีอำนาจ  ทำให้องคาพยพของการทำงานเกิดแนวคิดแบบชนชั้น และมุ่งเอาเปรียบสังคม มุ่งความสุขสบายเพื่อตัวเองมากกว่าเพื่อคนงานที่มีสภาพชีวิตลำบากยากจนในทุกวันนี้
       7. ความคับแคบที่ผู้ออกกฎหมายที่ไม่ได้มาจากประชาชนนำมาใช้กับประชาชนผู้อื่น แต่ไม่สามารถนำมาใช้กับชนชั้นนำได้  ทำให้ความเสมอภาคของสังคมไม่มีโอกาสเกิดขึ้น เพราะชนชั้นนำคงไม่ยอมที่จะเปิดโอกาสให้สังคมมีความเสมอภาค มีแต่การเสนอแนะว่าให้คนทำหน้าที่  แต่การทำหน้าที่ที่ไม่มีประชาธิปไตยก็ไม่ผิดกับคนที่ก้มหน้าก้มตายอมรับเวรกรรมเท่านั้นเอง และไม่สามารถจะมีชีวิตที่ดีกว่าได้
       8. ความคับแคบทางเศรษฐกิจ ที่แม้แต่การกระจายรายได้ไม่ได้มุ่งสู่ฐานชนบทซึ่งเป็นฐานใหญ่ของสังคม แต่มุ่งพัฒนาเมืองโดยไม่ใส่ใจต่อการกระจายความสุขสู่ภาคประชาชน งบประมาณส่วนใหญ่มาจากศูนย์กลางของอำนาจ  หากเพียงแต่ต้องกระจายรายได้ในรูปรัฐสวัสดิการให้กับประชาชนเท่านั้นจึงจะเป็นการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
       9. จิตใจที่คับแคบนั้นน่าจะมาจากการที่นักการเมือง,ขุนนางวิชาการ,ชนชั้นนำ ที่ไม่เคยผ่านความยากลำบาก และบางคนที่ร่ำรวยจากคนจนเป็นผู้สร้างให้, ช่วยให้เสียภาษีมากขึ้น แม้แต่การบริโภคสินค้าคนจนส่วนใหญ่ของประเทศก็ซื้อสินค้าที่บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม  ซึ่งเกิดการจากการผลักภาระภาษีมาให้กับผู้ซื้อคนสุดท้าย นั่นคือประชาชนนั่นเอง
      10. สื่อรัฐบาลหลายช่องคับแคบในการออกรายการ เช่นเลือกผู้มาให้ความรู้ที่เป็นคนหน้าเดิม,รายการจืดชืด ไม่ค่อยมีการแลกเปลี่ยนความคิดในเชิงกว้าง ซึ่งหมายถึงต้องทำให้บุคคลทุกหมู่เหล่า,ทุกวิชาชีพ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงทัศนะแม้ว่าความคิดจะแตกต่างเพียงใด ก็สามารถนำมาแลกเปลี่ยนพูดคุยได้
      11. ความคับแคบกระทบถึงจิตใจของผู้คนในสังคม ขาดความเมตตาปรานี ตามหลักพระพุทธเจ้าที่คนมีมากควรเผื่อแผ่ผู้ด้อยโอกาสมากกว่า, เผื่อแผ่อำนาจประชาธิปไตย, เผื่อแผ่ความคิดหลากหลาย,เผื่อแผ่สังคม,  แต่มิใช่สังคมของคนที่เอาแต่ได้ แต่ควรเป็นสังคมมีแต่ให้จะดีกว่าที่เป็นอยู่
ซึ่งสังคมต้องฝึกฝนทักษะจึงจะกลายเป็นนิสัยที่ดีและเป็นแบบอย่างของผู้คนในสังคม
       สรุป ประเทศไทยเป็นสังคมที่คนได้เปรียบกระทำกับผู้เสียเปรียบมาเพียงพอแล้ว จึงควรเอื้ออาทร และเมตตาต่อประชาชนเหมือนกับการปกครองแบบพ่อปกครองลูกสมัยสุโขทัย ที่ลูกขุนสามารถไปตีกระดิ่งร้องเรียนในความเดือดร้อนได้  ผู้ปกครองที่ดีควรมีลักษณะ "ยามสุขร่วมเสพ ยามทุกข์ร่วมต้าน" จึงจะเป็นผู้ปกครองที่ดีและเป็นที่พึ่งของประชาชนได้



   

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ระบบการเมืองที่ดีเหมือนปลาในอ่างแก้วที่มองเห็นตัวปลาชัดเจน

108 คำคมขงเบ้ง คำคมสอนใจ จากขงเบ้ง

ตัวแบบงบประมาณผูกพัน (Beyond Budgeting) ตอนที่หนึ่ง