ประชาธิปไตยอัจฉริยะ (4)


กรอบแนวคิดทฤษฎีประชาธิปไตยอัจฉริยะ
                    จากปัญหาที่ประเทศไทยประสบกับภาวะทางการเมืองที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด   มีลักษณะที่เหมือนรถยนต์วิ่งขึ้นไปข้างหน้า  และต้องถอยหลังกลับมานั้น   เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจ และสร้างความสับสนกับลัทธิการปกครองอันเนื่องจากมนุษย์มีความคิดเห็นที่หลากหลาย และแตกต่างกัน  กลุ่มใดที่มีอำนาจมากเกินไปอาจใช้อำนาจไปในทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย       เพราะความคิดรูปแบบประชาธิปไตยของคนไทยมีความเห็นไม่อยู่ในมาตรฐานหรือกติกาอันเดียวกัน        บุคคลที่เป็นผู้นำในสังคมจะต้องระมัดระวังในการวางตนให้สมกับนักประชาธิปไตยที่แท้จริง      แต่ในการบริหารประเทศนั้นหากเรามุ่งแต่เรื่องประชาธิปไตยอย่างเดียวก็มีอันหวังว่าประชาชนคนไทยก็คงลำบากยากจน  และหากคนในกลุ่มสังคมขาดแบบแผนประชาธิปไตยอันเดียวกันแล้วไซร้ก็จะทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมแห่งความสับสน   และก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างไม่มีวันจบสิ้น         การปรองดองสมานฉันท์และทำความเข้าใจในหลักการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง     ผู้นำจำต้องมีบุคลิกความคิดจิตวิญญาณแบบประชาธิปไตย  โดยไม่นิยมการใช้กำลังรุนแรง,  การไม่ยอมรับความคิดเห็นของฝ่ายที่มีความคิดไม่เหมือนกัน      เป็นธรรมดาที่ประชาธิปไตยจะต้องมีความเห็นไม่ลงรอยกันบ้าง และวุ่นวายสับสนไปบ้าง   แต่การเคารพกติกาของสังคมเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง  แต่ก็มิใช่กติกาของคนบางกลุ่มตั้งกันขึ้นมาโดยขาดการยอมรับคนส่วนใหญ่ หรือของสากลประเทศยอมรับ         ดังนั้นสิ่งที่สังคมไทยเรายังขาดความเข้าใจในวิถีการปกครองประชาธิปไตยนั้นเกิดจากการขาดความฉลาด หรืออัจฉริยะทางประชาธิปไตยนั่นเอง        หากประเทศไทยมีการสร้างสังคมอัจฉริยะประชาธิปไตยในทุกภาคส่วน ซึ่งอาจจะแตกต่างจากสังคมตะวันตกบ้าง    ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืน    มิใช่ประชาธิปไตยแบบต้นกล้วยที่ถูกโค่นอยู่บ่อยครั้ง             ก่อนที่จะทำความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยอัจฉริยะนั้นเรามาศึกษาถึงความหมายกันก่อน
                      บางท่านให้คำนิยามง่าย ๆ ว่าประชาธิปไตยคือการปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน หรือมาจากประชาชน       ซึ่งก็หมายความว่าประชาธิปไตยถ้าไม่อยู่ในอำนาจของประชาชนก็ถือว่ามิใช่ประชาธิปไตย     โดยดูจากสมการดังนี้
                     ประชาธิปไตย      =    อำนาจสูงสุดของประชาชน
               อริสโตเติ้ล (Aristotle) ให้ความหมายประชาธิปไตยแบบเดียวกันว่าประชาธิปไตยก็คืออำนาจสูงสุดอยู่ในมือของประชาชนทั้งหมด     ซึ่งเขามีทัศนะว่าเป็นระบบการปกครองที่ปลอดภัยมากที่สุด
               A.D.Lindsay  ให้ความหมายว่าประชาธิปไตยตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่ามนุษย์สามารถตกลงทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดร่วมกันได้   และในทำนองเดียวกันก็มีวิถีชีวิตของแต่ละปัจเจกชนได้   เกิดจากการยอมรับนับถือเคารพนับถือบุคลิกภาพซึ่งกันและกันมากพอ   เราก็สามารถจะหาหลักเกณฑ์ของระบบสิทธิเสรีภาพ  ซึ่งทำให้บุคคลบรรลุถึงชีวิตอันเสรีได้   ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดในทัศนะของเขาคือ การปรึกษาหารือถกเถียงกัน       ดังนั้นจากความหมายดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์เราต้องยอมรับในความแตกต่างของบุคลิกภาพ  มิใช่ใช้ความเห็นของตนเองเป็นเครื่องกำหนดบุคลิกภาพหรือกลุ่มคนที่ยอมรับบุคลิกภาพเฉพาะกลุ่มเท่านั้น     เพราะมนุษย์มีความแตกต่างกัน, มีความหลากหลาย แต่ควรทำความเข้าใจกันด้วยการพูดจาปราศรัยกันโดยไม่มีทิฐิเป็นเครื่องกั้นใด ๆ  
                         ประชาธิปไตย     =     การยอมรับความแตกต่างในบุคลิก + การยอมรับนับถือกัน + การปรึกษาหารือถกเถียงกันกรณีความเห็นไม่ลงรอยกัน
                        Carton C’Rodee  ให้ความหมายประชาธิปไตยคือการใช้ความพยายามก้าวไปสู่ชีวิตที่ดีงาม เพื่อประชาชนของคนทุก ๆ คน โดยไม่หยุดยั้ง   นั่นก็คือการให้เสรีภาพของแต่ละคนให้มากที่สุด   พร้อม ๆ กับการให้ความคุ้มครองชีวิต, ความปลอดภัย, การสงเคราะห์ และการมีโอกาสในชีวิตที่กว้างขวางที่สุดสำหรับทุกคน เท่าที่ธรรมชาติจะอำนวย เพื่อการพัฒนาบุคลิกภาพให้เต็มที่ที่สุด และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากที่สุด
                         จากความหมายดังกล่าว  จะเห็นว่าการปกครองประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่พยายามให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากที่สุด,  ได้รับการคุ้มครองสูงสุด, สร้างโอกาสชีวิตสูงสุด (ในสังคมของไทยมักเป็นสังคมที่ยังไม่กระจายโอกาสที่เท่าเทียมกัน   จะเห็นว่าคนจนก็ต้องจนไปตลอดชีวิต  ไม่ได้มีโอกาสพัฒนาตนเองให้ทัดเทียมกันบุคคลอื่น ๆ    บุคคลที่มีอำนาจในสังคมกลับมีโอกาสมากมาย และมีการใช้อภิสิทธิ์กันในทางที่ผิด ๆ  เช่นระบบอุปถัมภ์,  ระบบพรรคพวกเป็นใจ,ระบบเน่าหนอนชอนไช,  ระบบเจ้าขุนมูลนาย, ระบบธนกิจทางการเมือง ซึ่งทำให้สังคมไทยยังมีอุปสรรคเรื่องประชาธิปไตยค่อนข้างมาก  และยังติดยึดกับระบบอำนาจนิยม  ซึ่งหมายถึงว่าใครมีอำนาจจะคิดทำอะไรก็ถูกต้องเสมอ  โดยไม่ได้รับฟังเสียงคนส่วนใหญ่ของประเทศ           จากลักษณาการดังกล่าวการจัดการห่วงโซ่อุปทานในด้านประชาธิปไตยเพื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรมประชาธิปไตยจึงมีโอกาสถูกบิดเบือน, เฉไฉ  อันเนื่องจากความเข้าใจประชาธิปไตยกันคนทิศคนละทาง    และมีโอกาสถูกตัดตอนห่วงโซ่ไปถึงประชาชนในระดับล่างได้            ซึ่งคำว่าการจัดการห่วงโซ่อุปทานหมายถึงวิถีทางที่จะนำเอาประชาธิปไตยไปสู่มือของประชาชนทั้งประเทศได้       เป็นการเคลื่อนที่หรือการบริการไปถึงประชาชน   เช่นทำให้ประชาชนในชุมชนมีอำนาจในการตัดสินใจของเขาเองได้     โดยรัฐไม่เข้าไปแทรกแซงใด ๆ   รัฐเป็นแต่เพียงจัดสรรโอกาสการมีส่วนร่วม   และป้องกันการใช้ความรุนแรงเท่านั้นเอง        จากความหมายดังกล่าวข้างต้นสามารถเขียนในรูปสมการเพื่อความเข้าใจอย่างง่าย ๆ คือ
                       ประชาธิปไตย     =    หลักประกันสิทธิเสรีภาพ + การคุ้มครองชีวิต + ความปลอดภัย + มีโอกาสสร้างชีวิตได้สูงสุด 
                จากการให้ความหมายของประชาธิปไตย  จะพบว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ประเทศไทยได้นำแนวคิดจากตะวันตกมาประยุกต์ใช้       แต่ยังขาดจิตสำนึก และวินัยในเรื่องประชาธิปไตย   ซึ่งการเข้าใจประชาธิปไตยแบบไทยยังเป็นความเข้าใจแบบผิวเผิน   และดูเหมือนจะไม่ให้ความใส่ใจเท่าที่ควรในขณะนำเอาหลักการประชาธิปไตยไปใช้     เพราะผู้นำและคนไทยส่วนใหญ่ยังติดระบบอำนาจนิยม  จะสังเกตว่าเราจะนิยมคนมีอำนาจ, การติดสอยห้อยตามผู้มีอำนาจ, การไม่กล้าแสดงความคิดเห็นต่อผู้มีอำนาจ    หรือการไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น    ซึ่งจะเห็นว่าเรายังเข้าไม่ถึงประชาธิปไตยจริง ๆ เท่าที่ควร  ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองประชาธิปไตยสิ่งสำคัญที่สุดคือผู้นำต้องมีความคิดจิตประชาธิปไตยที่ดีเสียก่อน        เพราะลำพังการจะปฏิบัติตามกฎหมาย หรือหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยหาช่องโหว่ทางกฎหมายก็ตาม  ก็ไม่สามารถจะทำให้บุคคลที่เป็นผู้นำมีความสมบูรณ์แบบได้      ซึ่งการสร้างประชาธิปไตยอัจฉริยะนั้น     ผู้เขียนขอเสนอแนวคิดในแต่ละกลุ่มทางสังคม   เพื่อให้เห็นภาพอย่างชัดเจนดังนี้
                    ประชาธิปไตยอัจฉริยะในแง่ของประชาชน หรือปัจเจกชน      ประชาธิปไตยในระดับนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนควรได้รับการศึกษาเกี่ยวกับประชาธิปไตย   ในด้านการศึกษาซึ่งรัฐบาลควรกำหนดให้มีการถ่ายทอดประชาธิปไตยในทุกหมู่บ้าน, ตำบล, อำเภอ, และจังหวัด        เน้นการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกโดยอาจผ่านสื่อต่าง ๆ  เช่นการใช้สิทธิ, เสรีภาพต่าง ๆ  ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน    การสร้างพลังความสามัคคีของประชาชน    ตัวอย่างประชาธิปไตยอัจฉริยะของปัจเจกชนเป็นดังนี้
                            ก. การรู้จักทั้งสิทธิและการทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี     การเคารพรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น, การละเมิดสิทธิของผู้อื่น,  การให้เกียรติในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกัน  
                           ข.  การรู้สึกรักเพื่อนมนุษย์  และมองโลกในแง่ดี      ไม่มีจิตใจคิดหวาดระแวงผู้อื่น, ให้โอกาสผู้อื่น,   มีลักษณะไม่หวงแหนแต่มีลักษณะของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน   มิใช่ต่างคนต่างอยู่    แต่มีลักษณะของการมีความเข้าใจผู้อื่นอย่างแท้จริง    ไม่ใช้อัตตาในการตัดสินวินิจฉัยผู้อื่นโดยไม่ให้โอกาสผู้อื่นได้แสดงออก    
                           ค.  มีทัศนะที่หลากหลาย, หลายมุมมองหลายมิติ    การที่ปัจเจกชนมีความรอบรู้ และมีประสบการณ์ในชีวิตจะทำให้มองโลกอย่างกว้างขวาง และมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล   ทำให้บุคคลมีการปรับตัวที่เข้าใจมนุษย์ และทำให้รู้จักใช้ประชาธิปไตยในการรับฟังเหตุผลเป็นอย่างดี
                           ง.  การรู้จักรักษากติกา, รักษากฎระเบียบสังคมที่ดี    ไม่นิยมการแหวกกรอบกฎเกณฑ์เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว, มีจิตใจโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนมนุษย์  และการเสียสละเพื่อส่วนรวมซึ่งบางครั้งอาจทำให้สิทธิส่วนตนสูญเสียไปบ้างก็ตาม
                           จ. มองปัญหาของสังคม และของประเทศไทยเป็นเรื่องสำคัญ,  มีความตื่นตัวต่อการเรียกร้องเพื่อให้ประชาธิปไตยมีความสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง    มีความกล้าหาญในสิ่งที่ถูกต้องแม้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้ตนเองได้รับความเดือดร้อนก็ตาม        มีลักษณะที่ไม่ชอบระบบอำนาจนิยม, การใช้อำนาจเผด็จการ,  รู้จักให้อภัยและให้โอกาสแก่ผู้อื่นแม้ว่าบุคคลผู้นั้นอาจทำความผิดพลาด หรือเป็นคนไม่ดีมาก่อน 
                            อาจกล่าวได้ว่า   การปกครองแบบประชาธิปไตยเพื่อให้มีวัฒนธรรมและมีจิตสำนึกประชาธิปไตยอาจถึงขั้นต้องมีการปฏิวัติวัฒนธรรมประชาธิปไตยในประชาชนทุกระดับ    โดยเฉพาะระดับรากหญ้าเพื่อสร้างค่านิยม, จิตสำนึกที่ดี    และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และการติดตามตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ       นั่นก็คือการเมืองประชาธิปไตยแบบภาคประชาชนนั่นเอง      มิฉะนั้นบุคคลที่ทำการรัฐประหารก็มักจะอ้างประชาธิปไตย  โดยที่วิธีการยังไม่ใช่ประชาธิปไตย   ก็ยิ่งจะสร้างความสับสนในบรรยากาศ       ทำให้อุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยถูกบิดเบือน และต้องเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งไป       กลายเป็นวงจรอุบาทว์ทางการเมือง     และตัวแปรที่สำคัญของประชาธิปไตยไม่ใช่คำตอบอยู่ที่ว่ามีปัญหาที่รัฐธรรมนูญ     เพราะเพียงคำว่ารัฐธรรมนูญไม่สามารถจะทำให้ประชาธิปไตยมีความสมบูรณ์ขึ้นมาได้    แต่เกิดจากคนอย่างเรา ๆ ที่มีจิตสำนึกและจิตวิญญาณประชาธิปไตยเท่านั้น        ถ้าหากวัฒนธรรมและประเพณีของไทยยังมีลักษณะเครื่องกั้นทางความคิดประชาธิปไตยแล้ว    ก็ยากยิ่งที่จะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์   นั่นคือในระดับของผู้นำ และชนชั้นนำจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงออกด้วยวิถีทางประชาธิปไตย             ความเป็นปัจเจกชนต้องให้ความสำคัญกับความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของมนุษยชาติไม่ว่าบุคคลนั้น ๆ จะเกิดมาจากชาติภูมิใด ๆ ก็ตาม          การสำนึกว่าตนเองมีส่วนสำคัญต่อการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย  นั่นก็คือการสนใจการเมืองที่นำไปสู่การสร้างสรรค์ และแสวงหาแนวทางในการยกระดับประชาธิปไตยของประชาชนให้มีการพัฒนายิ่ง ๆ ขึ้น ไป    
                    ประชาธิปไตยอัจฉริยะในแง่ของครอบครัว        ครอบครัวมีส่วนสร้างสรรค์ประชาธิปไตยอย่างมาก   เช่นการร่วมรับประทานอาหารในครอบครัว และพ่อแม่มีการถามลูก ๆ ให้แสดงความคิดเห็นอยู่เสมอ ๆ  และให้กล้าแสดงความคิดเห็นเช่น   วันนี้อยากไปดูหนังเรื่องอะไร  ทำไมถึงอยากไปดูหนังเรื่องนี้   ทำไมไม่ดูหนังเรื่องอื่น ๆ         ความเป็นระบบครอบครัวคงไม่ได้หมายความว่าสนใจแต่เรื่องภายในครอบครัวเช่นมีการดูแลสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น   แต่ยังต้องสนใจโลกภายนอกครอบครัวซึ่งมีส่วนกระทบต่อวิถีทางประชาธิปไตยด้วย     มิฉะนั้นสังคมไทยก็จะกลายเป็นลักษณะบ้านใครอยู่ อู่ใครนอน   หรือเป็นสังคมแบบตัวใครตัวมันเท่านั้น   แต่มีลักษณะในการร่วมรับฟังความคิดเห็น  สนใจเกี่ยวกับข่าวสารการเมือง, พฤติกรรมที่ดีของประชาธิปไตยของผู้นำ,  แบบอย่างที่ดีของนักประชาธิปไตยซึ่งต้องช่วยกันสอนให้ลูกหลานเข้าใจ     เพื่อวางพื้นฐานให้รู้จักรักษาสิทธิ และหน้าที่ของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เช่นการส่งเสริมให้ไปเลือกตั้ง, การเข้าไปร่วมรับฟังความคิดเห็น,  พาลูกหลานไปเที่ยวชมรัฐสภา, การประชุมสภาผู้แทนราษฎร,   การรับฟังอภิปรายการแสดงความคิดเห็นของนักวิจารณ์ทางการเมือง, นักการเมือง, นักวิชาการที่อภิปรายเกี่ยวกับการเมืองไทย  ฯลฯ           ครอบครัวที่มีความเป็นอัจฉริยะประชาธิปไตยจึงเป็นครอบครัวตัวอย่างที่ดี    และเป็นแบบอย่างของการเป็นผู้มีเหตุมีผล ไม่นิยมการใช้อำนาจ, รู้จักรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ๆ,  ยอมรับความแตกต่างที่ก่อให้เกิดประโยชน์, ถือว่าการมีความแตกต่างทางความคิดช่วยให้เกิดปัญญา และช่วยสร้างทรัพย์สินในความคิดหลากหลาย  ทำให้ประเทศชาติมีความเจริญงอกงาม         สังเกตว่าประเทศในเอเชียเช่นเกาหลีใต้ และจีนไต้หวันมักมีความเจริญทางประชาธิปไตย แม้ว่าสังคมการเมืองของเกาหลีใต้และจีนไต้หวันดูจะรุนแรง  แต่เราก็จะเห็นว่าบ้านเมืองของเขามีความเจริญ และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีความเจริญในทุก ๆ ด้าน  ดังนั้นการบอกว่าสังคมที่มีความวุ่นวายในประชาธิปไตยแล้วจะทำให้สังคมมีความไม่เจริญรุ่งเรืองนั้นแสดงให้เห็นว่าไม่เป็นจริงอย่างที่กล่าวหาเลย    หรือการแสดงบทภาพยนตร์ในเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวจะมีลักษณะของความเป็นประชาธิปไตย       เมื่อเกิดปัญหาจะมีการนำมาพูดอย่างเปิดเผยโดยไม่ต้องเกรงใจ เพื่อให้สิ่งต่าง ๆ นั้นบังเกิดความถูกต้อง   มิใช่เป็นสังคมแบบเกรงใจจนเกิดความเกรงกลัวอย่างที่เป็นอยู่ในสังคมแบบไทย ๆ ทุกวันนี้      จึงทำให้เป็นเหยื่อของนักเผด็จการที่ครอบงำสังคมไทย    อันเนื่องจากไม่ได้มีการฝึกความเป็นประชาธิปไตยซึ่งมาจากรากฐานในระบบครอบครัว หรือที่บ้าน
              ประชาธิปไตยในโรงเรียน/สถาบันการศึกษา     สถานศึกษาตั้งแต่ระดับโรงเรียน และสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาล้วนมีความสำคัญต่อการวางรากฐานประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง   เพราะเหตุว่าโรงเรียนและสถาบันการศึกษาจะเป็นองค์กรที่เป็นตัวเบ้าหลอมในเรื่องประชาธิปไตย  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในหน่วยงานที่เกี่ยวกับการศึกษายังมีรูปแบบองค์กรแบบราชการ (bureaucracy)  ที่เน้นการทำงานที่สั่งการ และควบคุม (Control and command) จากบนลงล่าง      หากผู้บริหารในแวดวงการศึกษายังติดหรือนิยมแบบอำนาจนิยมก็จะมีบุคลิกภาพที่เน้นตำแหน่งยศศักดิ์ก็จะทำให้ข้าราชการเกิดการหลงลืมตนเองว่าเป็นผู้มีอำนาจมากกว่าประชาชน และนิยมการบริหารแบบเน้นพวกพ้องก็ยิ่งทำให้ข้าราชการในระดับผู้บริหารเกิดความลุ่มหลงมัวเมาในอำนาจและทำให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก, นิยมระบบอุปถัมภ์ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถพัฒนาคุณภาพที่สามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆบนเวทีโลกได้และในการสอนหนังสือยังมีลักษณะการสอนที่เน้นครูเป็นศูนย์กลาง(Teacher-centered) ก็ยิ่งส่งเสริมบทบาทให้ครูขาดความเป็นนักประชาธิปไตยได้     และผลวิจัยมักเป็นที่ปรากฎว่าในการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษากลับมีกิจกรรมที่ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าในระดับอุดมศึกษาด้วยซ้ำไป  ดังนั้นการแข่งขันในระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง    ทั้งนี้เกิดจากมหาวิทยาลัยมีการรับนักศึกษาในปริมาณมากกว่าจำนวนนักศึกษาที่ต้องการเรียน      จึงทำให้ระบบการศึกษาสนใจในเรื่องการสร้างรายได้มากกว่าการสร้างคนที่มีคุณภาพ      จึงเป็นเรื่องอันตรายในแวงวงทางการศึกษาที่นอกจากไม่ค่อยมีกิจกรรมที่เน้นประชาธิปไตยแก่นักศึกษา      แถมผู้บริหารในมหาวิทยาลัยกลับมีลักษณะต่อต้านและไม่ส่งเสริมบรรยากาศแบบประชาธิปไตย   ทำให้นักศึกษาในยุคปัจจุบันขาดการตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยแต่กลับไปตื่นตัวในการเมืองภาคประชาชนเท่านั้น      ซึ่งหากนักศึกษาเป็นแกนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงความคิดของสังคมจะมีคุณภาพมากกว่า   ทั้งนี้นักศึกษามีความรอบรู้และมีเหตุผล และเข้าใจในอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้ดีกว่า       แต่ปัจจุบันหลายมหาวิทยาลัยไม่ค่อยได้ส่งเสริม จะมีแต่เพียงบางมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ความตื่นตัวกลับไปอยู่กับนักวิชาการ และอาจารย์เท่านั้น     ซึ่งผิดกับประเทศเกาหลีที่นักศึกษามีความตื่นตัวทางการเมืองแบบประชาธิปไตยค่อนข้างสูง  มีการจัดระเบียบวินัยในการรณรงค์ทางการเมือง และร่วมตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารทางการเมือง และผู้บริหารของภาครัฐได้เป็นอย่างดีและมีวินัย ทำให้ประเทศเกาหลีมีระดับขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศที่เหนือกว่าประเทศไทยหลายเท่าตัว  ทั้ง ๆ ที่ประเทศเกาหลีต่างเป็นประเทศที่เจริญสู้ประเทศไทยไม่ได้  สิ่งนี้สะท้อนถึงการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยในหมู่นักศึกษามีความไม่เข้มแข็งและนับวันยิ่งจะอ่อนแอลงอันเนื่องจากระบบการศึกษาของไทยไม่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตย    การถกเถียงอภิปรายแสดงความคิดเห็นในรั้วมหาวิทยาลัยนับวันจะมีน้อยลง       ดังนั้นหากผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ปิดกั้นการแสดงออกทางด้านเสรีภาพและคอยกีดกันและสร้างกำแพงประชาธิปไตยแล้วไซร้     สังคมไทยจึงทำให้เกิดจุดอ่อนอันเนื่องจากการเมืองภาคประชาชนยังมีลักษณะขาดความเข้มแข็ง         การก่อการจราจรหรือ ม๊อบของคนบางกลุ่มบางครั้งก็มุ่งโจมตีแต่เรื่องส่วนตัวมากกว่าการเป็นเวทีที่เน้นย้ำความเป็นประชาธิปไตยที่สร้างจิตสำนึก แต่บางครั้งกลายเป็นเรื่องยั่วยุให้มีความเกลียดชัง และสร้างความไม่พอใจให้กับสังคม  จึงทำให้ขาดระเบียบวินัยเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่คำนึงถึงสิทธิของผู้อื่น      และบางครั้งอาจเป็นการใช้ประชาธิปไตยที่มากล้นจนกลายเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นอีกด้วย        ดังนั้นประเทศที่พัฒนาแล้วเราจะพบว่าคนในสังคมจะมีระเบียบวินัยรู้จักกติกา ไม่ละเมิดกติกา หรือกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง และมิใช่กฎเกณฑ์นั้นมีไว้ใช้กับคนบางกลุ่มหรือในกลุ่มผู้ถูกปกครองเท่านั้น แม้แต่ชนชั้นปกครองก็ต้องระวังในการรักษากฎเกณฑ์กติกาไว้ และยิ่งต้องมีจิตสำนึกทางด้านประชาธิปไตยที่มีมากกว่าผู้ถูกปกครอง   เพราะหมายถึงการเป็นแม่แบบหรือแบบอย่างของนักประชาธิปไตยที่ผู้ถูกปกครองสามารถนำไปใช้ได้ถูกต้อง     เปรียบเสมือนแม่พิมพ์ประชาธิปไตย มิใช่แม่ปูประชาธิปไตยจึงจะทำให้การเรียนรู้ประชาธิปไตยประสบความสำเร็จได้หากผู้นำเป็นตัวอย่างที่ดีอยู่แล้ว      ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรบรรจุหลักสูตรที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยในทุกวิชา และสอดแทรกความคิดรวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมการมีส่วนร่วมของผู้เรียนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง(Student Centred)  และจะเป็นการบริหารแบบสมดุล แทนที่จะเน้นหลักสูตรที่จบไปเพื่อทำมาหากินแต่เพียงอย่างเดียว  หรือเน้นเศรษฐกิจโดยไม่เน้นการบริหารแบบประชาธิปไตยก็จะทำให้คนมุ่งเน้นแต่วัตถุนิยมหรือปากท้องเท่านั้น   ทำให้ความมีอารยะของการอยู่ร่วมกันมีความไม่ประณีตมากขึ้น   เพราะคนเราอาจเพาะความเห็นแก่ตัวมากกว่าชาติบ้านเมือง และนำไปสู่การขาดจริยธรรมเพราะเน้นแต่ความร่ำรวยของตนเอง   จนละเลยหรือลืมหน้าที่ของการเป็นพลเมืองดีทางด้านประชาธิปไตยไปได้       นอกจากนี้ยังอาจเป็นการเพาะกิเลสในตัวคนมากขึ้น   ทำให้เกิดการอยากได้ใคร่ดีในวิถีทางที่ไม่ถูกต้อง      ซึ่งคนในสังคมทุกคนควรตื่นตัว และหาวิธีแก้ไขกฎระเบียบกฎเกณฑ์ที่ขัดต่อวิถีทางประชาธิปไตยของคนส่วนใหญ่  ซึ่งในปัจจุบันพบว่าคุณธรรม และจริยธรรมของคนในสังคมมีความเสื่อมโทรมไปมาก      ผู้กำหนดนโยบายของรัฐอาจมีความตั้งใจดี แต่ขาดการบริหารระบบที่เชื่อมโยงในทุกภาคส่วนแล้วก็จะทำให้เกิดความหละหลวมของระบบ   ทำให้เกิดปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงในทุกหย่อมหญ้า    ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณในการบริการประชาชนไปอย่างน่าเสียดาย และจากการจัดอันดับการคอรัปชั่นในเอเชียเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาปรากฏว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับการคอรัปชั่นอันดับที่สองรองจากประเทศฟิลิปปินส์    ซึ่งคะแนนเต็ม 10 คะแนน ของไทยได้คะแนน 8.1 ส่วนฟิลลิปปินส์ได้ 9.4

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ระบบการเมืองที่ดีเหมือนปลาในอ่างแก้วที่มองเห็นตัวปลาชัดเจน

ตัวแบบจำลองภารกิจของแอสริช (Ashridge Mission Model)

การปฏิรูปการศึกษาในต่างประเทศ