ประชาธิปไตยอัจฉริยะ (1)
เนื่องจากการปกครองแบบประชาธิปไตยของไทยเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มผู้ก่อการคณะราษฎร์ได้ทำการยึดการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 โดยพระองค์ทรงมีพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลว่าพระองค์ปรารถนาจะให้ประชาธิปไตยกับปวงชนชาวไทยอยู่แล้ว แต่ทว่าทรงเล็งเห็นว่าประชาชนไทยยังไม่พร้อมต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย เมื่อกลุ่มคณะราษฎร์ซึ่งมีกลุ่มจากข้าราชการทหาร, ตำรวจ, และพลเรือนซึ่งได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของอนารยะประเทศต่างปรารถนาที่จะเจริญรอยตาม แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังขาดการเรียนรู้แบบประชาธิปไตย หรือการมีจิตสำนึกแบบประชาธิปไตย ซึ่งหมายความว่าประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อม พระองค์จึงทรงมีพระสุนทรพจน์ตอนหนึ่งที่ว่า “ข้าพเจ้ามีความยินดีและเต็มใจที่จะมอบอำนาจของข้าพเจ้าที่มีอยู่แต่เดิมให้กับปวงชนชาวไทย แต่ข้าพเจ้าจะไม่ยินยอมสละอำนาจให้แก่กลุ่มบุคคลคณะหนึ่งคณะใดเป็นผู้ใช้อำนาจ โดยไม่ยอมรับฟังเสียงราษฎร”
จากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะราษฎร์ที่ปฏิวัติจากระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์มาจนถึงจวบจนปัจจุบัน ใช้เวลามาเป็นเวลากว่า 74 ปีมาแล้ว จะพบว่าการปกครองประชาธิปไตยของไทยยังมีปัญหา และยังไม่สามารถเดินตามวิถีทางประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืน จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการปฏิวัติรัฐประหารกันอยู่เสมอมา ฐานประชาธิปไตยยังเป็นที่คลอนแคลนและก่อให้เกิดเงื่อนไขการปฏิวัติรัฐประหาร ทั้งนี้เป็นสิ่งที่คนไทยควรคิดว่าเป็นเพราะเหตุใด ประชาธิปไตยของไทยจึงไม่รุดก้าวไปข้างหน้าเสียที ? ทำไมจึงมีลักษณะเดินหน้าถอยหลังไม่เหมือนกับประเทศที่พัฒนา หรือประเทศอื่น ๆ ที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยไปกันมากแล้ว ? ปัญหาของประชาธิปไตยเกิดจากตัวบุคคล หรือเกิดจากระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นมา, หรือจากวัฒนธรรมค่านิยมที่ปลูกฝังกันผิด ๆ ทำให้วิถีทางประชาธิปไตยจึงมีลักษณะล้มลุกคลุกคลาน ซึ่งก่อนที่จะเข้าถึงปัญหาหรือการแสวงหาแนวทางของประชาธิปไตยแบบทางเลือกที่ผู้เขียนเสนอต่อสังคม เพื่อให้สังคมมีการรับรู้และสร้างกติกาประชาธิปไตยอย่างมีจิตสำนึก และมิใช่เข้าใจประชาธิปไตยแต่เพียงแค่เปลือกกระพี้เท่านั้น ประชาชนคนไทยควรเข้าถึงแก่นแท้ของประชาธิปไตย เพราะว่าประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงรูปแบบที่มีรัฐสภา, สส., สว, หรือเป็นเพียงมีรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้น นั่นก็คือจิตสำนึกหรือจิตวิญญาณประชาธิปไตย ซึ่งจะพบว่ารัฐบาลไม่ค่อยส่งเสริมหรือปลูกฝังกันในเรื่องนี้ เราจะพบว่าไม่มีการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยในห้องเรียน, ไม่มีหลักสูตรที่สอนกันอย่างจริงจังอย่างเป็นระบบในการสอนถ่ายทอดจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ ทั้งนี้เพราะว่าวิถีทางประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน และเป็นสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมของตะวันตกซึ่งประเทศไทยได้นำเข้าทางความคิดหรือลอกเลียนแบบมาจากตะวันตก โดยเข้าใจว่าประชาธิปไตยได้แก่การมีรัฐสภา, การมีสภาผู้เทนราษฎร, การมีการเลือกตั้ง, การลงคะแนนเสียง, การมีพรรคการเมือง ฯลฯ ซึ่งที่แท้จริงแล้วเป็นประชาธิปไตยแค่รูปแบบเท่านั้น แต่ควรเป็นประชาธิปไตยในเชิงเนื้อหาด้วย เช่นการมีอุดมการณ์และจิตสำนึกประชาธิปไตย, การมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบพลเมือง (Citizenship) , การรู้จักรักษาสิทธิและหน้าที่, การรู้จักความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกระดับ, การวิพากษ์วิจารณ์ในทางสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมืองโดยมิเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน, การเคารพสิทธิและกติกาของบ้านเมือง, การรักษามติของเสียงส่วนใหญ่ และพิทักษ์เสียงส่วนน้อย (Majority Rule, Minority Right) , การพัฒนาสถาบันการเมือง และวิถีชุมชนแบบประชาธิปไตย การที่เสาประชาธิปไตยถูกรื้อถอน และถูกสั่นคลอนนั้นเกิดจากการไม่เข้าใจ หรือรู้ลึกซึ้งพอในการดำรงวิถีทางประชาธิปไตยได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ประชาธิปไตยจะยืนยงอยู่ได้คือประชาชนต้องมีทัศนะว่าประชาธิปไตยเปรียบเสมือนเสาหลัก หากโค่นลงมาบ้านก็จะทรุด หรือเอียงกระเทเร่ได้ จะต้องพยายามขวนขวายให้เสาหลักมีความมั่นคง และช่วยกันประคับประคองไม่ว่ากลุ่มบุคคลใด, อาชีพใด, ต้องมีลักษณะหวงแหนมิให้ใครย่ำยีได้ เป็นความมั่นคงทางด้านสังคมประชาธิปไตย มิใช่ประชาธิปไตยแบบต้นกล้วยที่เลี้ยงไว้ไม่กี่ปีก็ต้องถูกโค่นและกินดอกผลจากผู้สร้างมาก่อน แต่เราจะพบว่าคนไทยส่วนใหญ่มีความเข้าใจน้อยมาก และไม่สามารถเข้าใจในการรู้รักษาประชาธิปไตยที่คนไทยหวงแหนได้ จึงอาจเป็นกับดักที่ทำให้บุคคลบางกลุ่ม หรือบางคณะได้ใช้วิธีที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแต่เป็นการแอบอ้างได้ หากคนเป็นผู้นำที่ไม่สนใจ หรือไม่เข้าใจวิถีทางการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้อย่างเต็มที่ ซึ่งรูปแบบประชาธิปไตยมีที่มาจากการยึดอำนาจการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาจนถึงปัจจุบันนี้ จะแบ่งเป็นยุค ๆ ได้ดังนี้
1.ยุคคณะราษฎร์เรียกร้องการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งประกอบด้วยคณะทหาร, ตำรวจ, พลเรือนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475-2499
2.ยุคก่อการรัฐประหาร ที่เรียกกันว่าการก่อการปฏิวัติ ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 – 2516 เป็นต้นมา
3. ผลัดเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลฝ่ายพลเรือน ตั้งแต่รัฐบาลสัญญาธรรมศักดิ์, รัฐบาลธานินนทร์ กรัยวิเชียร, รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์, รัฐบาลชวน หลีกภัย, รัฐบาลพณ. ท่านชาติชาย ชุณหวัณ
4. ยุครัฐประหารโต้กระแสฝ่ายรัฐบาลพลเรือน ได้แก่ยุคพลเอกสุจินดา คราประยูร หรือยุคพฤษภาทมิฬ
5.ยุครัฐบาลพลเรือนที่เป็นรัฐบาลแบบนักธุรกิจในลักษณะที่เป็นประชานิยม (Populism) เน้นการทำงานที่รวดเร็วและเข้ากับโลกาภิวัฒน์ ได้แก่รัฐบาลยุคพณ.ท่านดร.ทักษิณ ชินวัตร
6.ยุครัฐประหารแบบเยือกเย็น (Silky Revolution) เป็นยุคที่บทบาททหารได้ใช้ประสบการณ์จากการปฏิวัติที่ทำให้ภาพพจน์เสียหาย กลับมาสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ด้วยวิธีการล้มอำนาจรัฐบาลพลเรือน และพยายามเอาใจมวลชนที่สนับสนุน เนื่องจากการที่ฝ่ายปฏิวัติอ้างว่ามีการคอรัปชั่นแบบเครือข่าย และทำให้คนบางกลุ่มที่ใหญ่พอสมควรไม่พอใจ
รากฐานแนวคิดประชาธิปไตยที่แท้จริง
ประชาธิปไตยถ้ามองเพียงผิวเผินคือ การมีการเลือกตั้ง, การมีรัฐสภา, การมีรัฐธรรมนูญ, การใช้สิทธิใช้เสียง ซึ่งยังเป็นประชาธิปไตยเพียงรูปแบบเท่านั้น แต่พฤติกรรมและจิตสำนึกประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องเนื้อหาสำคัญ แต่จริง ๆ แล้วเราอาจไม่รู้จักความหมาย, คุณค่า, ความลึกซึ้งของประชาธิปไตยซึ่งเป็นแก่นแท้ ดังนั้นเราจะพบว่าการที่คนไทยจะเข้าถึงแก่นแท้ประชาธิปไตยนั้น สิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือการทำให้ประชาชนมีระบบเศรษฐกิจที่ดีเสียก่อนในลักษณะของการกระจายรายได้แก่คนในสังคมในทุกระดับ หากคนส่วนใหญ่ของประเทศยังอยู่ในสภาพล้าหลังและยากจน ก็ยากที่จะจรรโลงประชาธิปไตย และกลายเป็นการครอบงำทางความคิดไปสู่ระบบเก่า ๆ หรือพฤติกรรมแบบเก่าที่ไม่ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ดังนั้นจึงขอทำความเข้าใจในหลักการและวิถีทางประชาธิปไตยเสียก่อน
การเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นเรื่องของการแสวงหาอำนาจโดยผ่านระบบตัวแทนเพื่อเข้าไปกำหนดนโยบายรัฐบาล และกำหนดทิศทางการทำงานเพื่อใช้อำนาจรัฐนั้นสร้างความผาสุกให้แก่ปวงชนชาวไทย เพราะประชาชนไม่สามารถเข้าไปทำหน้าที่โดยตรงได้ จึงต้องมีระบบตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ ซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศมีการถ่วงดุลกัน 3 อำนาจด้วยกัน ได้แก่ ก. อำนาจนิติบัญญัติ คืออำนาจในการออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมประชาชน ข. อำนาจบริหารหมายถึงอำนาจในการนำกฎหมายไปใช้บังคับ, และการนำเจตนารมณ์ที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker) ตรากฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม ค. และอำนาจตุลาการ คืออำนาจในการตัดสินคดีความที่อยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม, ไม่เลือกปฏิบัติ, ไม่ใช้อิทธิพลแทรกแซงไม่ว่ากรณีใด ๆ อำนาจทั้งสามประการนี้ต้องคอยตรวจสอบ, ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน หากอำนาจทั้ง 3 เหล่านี้ถูกแทรกแซงครอบงำก็จะทำให้อำนาจหนึ่งอำนาจใดมีมากเกินไป และในปัจจุบันแนวโน้มอาจใช้อำนาจของประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมรับรู้, ติดตามผลจากอำนาจของภาคประชาชน ซึ่งการตรวจสอบอำนาจภาคประชาชนควรเป็นอำนาจที่บริสุทธิ์ไม่เจือด้วยผลประโยชน์จากคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นพิเศษ แต่ในทางปฏิบัติในสังคมไทยยังมีบุคคลบางกลุ่มที่มักแอบอ้างประชาธิปไตยโดยพิจารณาจากแนวคิดของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาธิปไตยของไทยถูกบิดเบือนไปตามกลุ่มผลประโยชน์ (Interest Group)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น