นักการเมืองอุดมคติที่ควรจะเป็น

       ปัจจุบันความคิดต่างในสังคมไทยมีมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมิใช่เรื่องเลวร้ายแต่ประการใด เพราะการที่มีการวิพากย์วิจารณ์ในเชิงวาทะกรรมแต่สร้างสรรค์เป็นเรื่องมักเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยอาจไม่คุ้นเคยกับการมีความเห็นแตกต่าง ความแตกต่างถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ทำให้ประเทศไทยมีความเจริญกับชาติบ้านเมือง มากกว่าจะคิดว่าเป็นเรื่องน่ากลัว หรือเป็นเรื่องไม่ดี  หากเรามองในทัศนะในแง่บวก หรือในแง่ดีก็คือการที่สังคมมีความเห็นแตกต่างขัดแย้งช่วยขัดเกลา หรือหลาวความคิดให้คมเพื่อนำไปปฏิรูปสังคม ส่วนผู้ที่ไม่่ค่อยทนต่อการวิพากย์วิจารณ์มีโอกาสจะมองโลกในแง่ร้ายสูง เพราะคิดว่าเป็นปฏิปักษ์ หรือเป็นศัตรู  แต่เปล่าเลย เนื่องจากขอบเขตความคิด, อุดมการณ์, โลกทัศน์ที่แตกต่างกันออกไปซึ่งสิ่งที่เป็นความคิดเชิงสร้างสรรค์หรือต่อยอดเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีในสังคม ซึ่งบางครั้งนักวิชาการ หรือนักเคลื่อนไหว,หรือนักการเมืองต่าง ๆ  ซึ่งปรารถนาจะให้สร้างสรรค์ดังนี้

       1. นักการเมืองที่ดีไม่ควรแสดงบทบาทของการโจมตีนักการเมืองกันเอง โดยเฉพาะไม่มุ่งโจมตีตัวบุคคลมากเกินไป เพราะจุดประสงค์ใหญ่ของเราคืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ป้องกันสิ่งที่ไม่ดีร่วมกัน และมีจิตใจกว้างขวางในการยอมรับทัศนะมุมมองที่แตกต่างกัน
       2. นักการเมืองไม่ควรมองโลกในแง่ร้าย ในขณะที่รัฐบาลยังไม่ได้จัดตั้งขึ้นมา ควรให้เกียรติในความคิดและอุดมการณ์ว่าหากทำได้ก็เป็นเรื่องดี แต่ไม่ควรหาช่องโหว่เพื่อโจมตี หรือการข่มขู่คุกคามโดยใช้อำนาจนอกระบบที่ไม่อาศัยกลไกประชาธิปไตย
       3. นักการเมืองไม่ควรใช้วิธีการที่ซ้ำซาก เช่นการใช้วาทะกรรมที่มุ่งทำร้าย หรือโจมตีในขณะที่บุคคลนั้นไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่จะโต้ตอบ เพราะแสดงถึงมารยาทของนักการเมือง แต่ควรใช้หลักการที่ไม่มุ่งไปยังตัวบุคคล หรือใช้องค์กรหรือสถาบันมาแอบอิงในการใช้อำนาจ หมายความว่าการใช้อำนาจต้องสะอาด, หมดจด,บริสุทธิ์และยุติธรรม จะทำใ้ห้สถาบันการเมืองมีความมั่นคง ไม่ตกเป็นเหยื่อของการรัฐประหาร
       4. นักการเมืองเมื่อได้รับอำนาจแล้ว เมื่อเราเคยมีอุดมการณ์อะไร หรือรับปากสัญญากับประชาชนอะไร ก็ควรปฏิบัติให้เกิดสัมฤทธิผล  ไม่ใช่พอมามีอำนาจแล้วลืมคำพูด หรือกลายเป็นคนตีจากประชาชน เช่นเคยรับปากว่าจะสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ก็ต้องรีบทำตามพันธะสัญญา เพราะหากไม่ทำ หรือเกิดสะดุดแล้วก็จะทำให้ประชาธิปไตยไม่เจริญก้าวหน้า  ควรรีบแต่งต้นไม้ประชาธิปไตยให้พัฒนา เช่นการต่อกิ่ง,ทาบกิ่ง,ติดตาประชาธิปไตยที่อยู่ในสภาพแห้งแล้ง ขาดการพรวนดิน
       5. นักวิชาการควรวางตนเป็นกลาง ไม่เป็นฝักฝ่ายกับใคร หรือมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ หรือแอบอิงกับกลุ่มอำนาจ แต่ควรทำหน้าที่ในทางสร้างสรรค์ และไม่ควรระแวงว่าเมื่ออีกพรรคการเมืองหนึ่งขึ้นมาแล้วจะน่ากลัว หรือจะมาแก้แค้น แต่ควรหาวิธีการแก้ไข หากเรามัวระแวงกันการพัฒนาการเมืองไทยก็จะสะดุดอยู่กับที่ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง
       6. นักการเมืองที่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง ก็ไม่ควรท้อถอย เพราะหากมีการปรับปรุงระบบพรรคการเมืองให้ดี ทบทวนแก้ไขจุดอ่อน มิใช่แสวงหาจุดอ่อนฝ่ายตรงกันข้าม และคอยโจมตีก็มิใช่จะเอาชัยชนะ หรือครองใจประชาชนได้ แต่ควรแสวงหามืออาชีพของนักการเมืองเข้าพรรค หรือคนที่จริงจังเข้าถึงประชาชนก็สามารถพัฒนาได้ แต่มิใช่การแก้แค้นเพราะตนเองไม่สามารถเข้าสู่อำนาจ แต่ต้องคิดว่าเมื่อประชาชนเขาไม่เลือกเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็อย่าไปโกรธแค้นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
       7. ผู้ปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน ควรรีบปรับโฉมหน้าสื่อพัฒนาให้เหมาะสมกับโลกาภิวัฒน์ ไม่ควรใช้รูปแบบเก่า ๆ ที่จำเจซ้ำซาก โดยการแสวงหาบุคลากรที่แตกต่างหลากหลายในสังคม หรือในสาขาอาชีพต่าง ๆ เพื่อจะำได้มีการจัดรายการในเชิงวิจัยปฏิบัติการในตัว และสื่อก็สามารถหาข้อสรุปโดยถือเสียงส่วนใหญ่ของประเทศเป็นสำคัญ
       8. นักการเมืองไม่ควรบ้าจี้ไปกับความคิดของนักวิชาการ หรือคนที่เข้าข้างตนเอง แต่ควรมองนักวิชาการที่เป็นกลาง และไม่อิงผลประโยชน์ และตั้งใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างซึ่งเราอาจไม่ชอบ แต่มองทัศนะแตกต่าง และมองการวิจารณ์เชิงกว้างก่อน รวมถึงเข้าไปสืบหาข้อมูลเพื่อหาความจริง โดยไม่ด่วนสรุปเร็วเกินไป หรือถูกยั่วยุจากบริวารที่เราเชื่อ แต่อาจจะไม่จริงก็ได้
       9. นักการเมืองที่ได้รับเสียงส่วนใหญ่ถือว่ามีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล ทุกองค์กรอิสระควรยอมรับมติมหาชนมากกว่าการใช้เสียงข้าราชการเพียงไม่กี่คนมาต้านกระแสของมวลชน ก็ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น ดังนั้นควรรีบแก้ไขที่เป็นสาเหตุนำมาซึ่งความขัดแย้ง หรือการใช้ความรุนแรง ควรหาข้อสรุปว่ามาตราใดในรัฐธรรมนุญที่เป็นปัญหาต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย มิใช่นักการเมืองออกมาเคลื่อนไหวห้ามปรามซึ่งไม่ใช่เสียงของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง นั่นคือการเคารพเสียงประชาชนนั่นเอง
       10. นักการเมืองควรหาวิธีการออกแบบการเลือกตั้งที่ทำให้ประชาชนไม่ซื้อเสียง,ขายเสียงออกแบบระบบพรรคการเมืองต้นแบบที่เป็นมืออาชีพ และคอยสอดส่องกลไกระบบราชการ,ระบบรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นกลไกสำคัญที่เป็นอิสระ มิใช่ระบบราชการกลายเป็นเครื่องมือครอบงำการเมืองแบบประชาธิปไตย
       11. หากคิดว่าทุกฝ่ายเห็นดีด้วยกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยดีที่สุด เราก็ไม่ควรนำระบบอื่น ๆ มาทดแทน ซึ่งถ้าหากเราตั้งหน่วยงานองค์กรพิทักษ์ประชาธิปไตยในรูปกระทรวงประชาธิปไตยก็จะเป็นเรื่องดี แต่เป็นกระทรวงประชาธิปไตยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน โดยหาวิธีการแก้ไขหน่วยงาน,องค์กร,ระบบราชการ,รัฐวิสาหกิจ,ระบบเอกชน ควรหาวิธีการประชาธิปไตยไปใช้ในทุกสถานที่ทำงานโดยยึดหลักความเป็นมืออาชีพด้วยระบบคุณธรรม และความเสมอภาคในโอกาส, ความสำเร็จในผลงานของหน่วยงาน, การสนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตยในหมู่องค์กรภาคประชาชน  จึงจะทำให้ประชาธิปไตยของไทยเป็นความหวังของประเทศ และคนไทยที่เป็นหุ้นส่วนของประเทศ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ระบบการเมืองที่ดีเหมือนปลาในอ่างแก้วที่มองเห็นตัวปลาชัดเจน

108 คำคมขงเบ้ง คำคมสอนใจ จากขงเบ้ง

ตัวแบบงบประมาณผูกพัน (Beyond Budgeting) ตอนที่หนึ่ง