ประชาธิปไตยอัจฉริยะ (2)
การปกครองประชาธิปไตยมีกำเนิดเริ่มเดิมทีเกิดขึ้นครั้งแรกที่นครรัฐกรีกโบราณเมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งมีลักษณะประชาธิปไตยโดยตรง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าร่วมชุมนุมและแสดงสิทธิความคิดเห็นได้ ทั้งนี้เพราะเมืองหลวงของกรีกมีอาณาเขตไม่ใหญ่โตกว้างขวาง และมีประชากรค่อนข้างเล็กน้อย แต่ในปัจจุบันไม่สามารถนำระบอบประชาธิปไตยโดยตรงมาใช้ได้ เพราะประชาชนมีมากเกินกว่าที่จะให้โอกาสมาใช้สิทธิในการแสดงออกได้ ดังนั้นประชาธิปไตยในปัจจุบันจึงเป็นประชาธิปไตยโดยผ่านตัวแทน หรือประชาธิปไตยทางอ้อม เช่นการเลือกผู้แทนราษฏรเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ดังนั้นหน้าที่ของตัวแทนจึงทำหน้าที่ในการรวบรวม, แสวงหาสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในทุกระดับชั้นแต่สิ่งที่สำคัญในประเทศที่คนส่วนใหญ่ยังมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีนั้น ควรให้ความสำคัญกับกลุ่มบุคคลที่ยากจนมากที่สุดเสียก่อน หรือถ้าหากให้ความสำคัญกับกลุ่มคนระดับกลาง และระดับสูงก็ควรให้มีการจัดเก็บภาษีลดหลั่นตามระดับรายได้ให้มากพอที่จะช่วยคนระดับล่างได้มากขึ้น, รวมทั้งสร้างรากฐานของระบบการศึกษาที่ขยายตัวในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เพิ่มพูนมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีการกินดีอยู่ดี,มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นหลักการประชาธิปไตยมีหัวใจสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ก. อุดมการณ์ประชาธิปไตย ข. การปกครองแบบประชาธิปไตย และ ค. วิถีชีวิตประชาธิปไตย และสิ่งสำคัญที่ผู้เขียนขอเพิ่มเติมคือ ประชาธิปไตยอัจฉริยะ ซึ่งหมายถึงการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนคนไทยในทุกระดับอย่างแท้จริง ประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจ, เข้าถึง และพัฒนาขีดความสามารถประชาธิปไตยโดยเฉพาะระดับนักการเมืองหรือระดับผู้บริหาร, ผู้นำต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และยอมรับกติการ่วมกัน และป้องกันไม่ให้เกิดวงจรอุบาทว์ทางการเมืองเข้ามาทำลายความมั่นคงของประชาธิปไตย ซึ่งก็คือความมั่นคงของชาติ และประชาชน ซึ่งในสากลของโลกได้ให้ความสำคัญกับการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) ซึ่งกระแสของโลกนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องความโปร่งใส, ความรับผิดชอบ, ความซื่อสัตย์, ฯลฯ ดังนั้นหากประเทศใดตกอยู่ภายใต้การปกครองที่มิใช่ประชาธิปไตยก็มักถูกปฏิเสธในการร่วมคบหาสมาคม และทำให้มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดี และรวมถึงการค้าขายกับต่างประเทศด้วย และรวมถึงบดบังความสง่างามที่มีต่อประชาคมโลกได้ ซึ่งเราพอจำแนกการใช้ประชาธิปไตย ดังนี้คือ
1. ประชาธิปไตยในแง่ของการปกครอง คือการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับกติกาคือ รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ต้องฉันทามติจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยไม่เลือกชั้น,วรรณะ, ผิวพรรณ, เพศ ทุกคนมีความเสมอภาคกันตามกฎหมาย
2. ประชาธิปไตยในแง่ของการใช้สิทธิใช้เสียง คือประชาธิปไตยที่มีการับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน โดยถือเสียงส่วนใหญ่ พิทักษ์เสียงส่วนน้อย (Majority Rule, Minority Right) ประชาธิปไตยมิใช่มาจากคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แต่บุคคลนั้นต้องมาจากตัวแทนของประชาชน และการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากที่สุด
3.ประชาธิปไตยในแง่ของวิธีการ คือประชาธิปไตยที่ใช้วิธีการประชาธิปไตย แต่มิใช่ใช้วิธีการรัฐประหาร (Coup de’ tat’) เพราะถ้าหากเป็นการยึดอำนาจแล้วก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยทันที ถึงแม้ว่าเราจะแอบอ้างว่ารัฐประหารเพื่อประชาธิปไตย แต่ทว่าวิธีการยังไม่เป็นประชาธิปไตย
4.ประชาธิปไตยในแง่ของอุดมการณ์ คือประชาธิปไตยที่คนส่วนใหญ่ของประเทศมีอุดมการณ์ร่วมกัน และยอมรับร่วมกันว่าจะจรรโลงประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ไม่ตกเป็นเหยื่อของอำนาจนิยมครอบงำทางการเมือง , ไม่ใช้ประชาธิปไตยไปในทางแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือของกลุ่มบุคคล แต่เป็นประชาธิปไตยที่เอื้อประโยชน์สุขแก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะคนไทยมักติดตัวบุคคลมากกว่าหลักการ ทำให้เกิดกลุ่มบุคคลที่แตกต่างกัน และนำมาซึ่งความขัดแย้ง แต่ควรมีขันติธรรมในการยอมรับกติกามากกว่าการใช้วิธีการอื่น ๆ ที่มิใช่ประชาธิปไตย ซึ่งก็คือหมายถึงการเล่นในเกมส์, ไม่เล่นผิดกฎกติกา, และเป็นสิ่งที่ผู้ไม่ได้เล่นในเกมส์ยอมรับได้ ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ แต่เป็นเรื่องของเหตุผล การรักษากติกาประชาธิปไตยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
5. ประชาธิปไตยในแง่ของการสร้างชาติ คือประชาธิปไตยที่คนส่วนใหญ่ร่วมกันผนึกกำลังความสามัคคีเพื่อกู้ชาติ และพัฒนาชาติให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น ๆ ไป การรักษาสมานฉันท์จะต้องไม่มีจิตใจลำเอียง หรือมีอคติใด ๆ หรือการลุ่มหลงผลประโยชน์ใด ๆ ที่ทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหาย
6. ประชาธิปไตยในแง่ของคุณธรรม คือประชาธิปไตยที่มีลักษณะการไม่เห็นแก่ตัว, เห็นแก่พวกพ้องโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องเป็นธรรม การมีนิสัยที่ไม่โลภโมโทสัน, รู้จักพอเพียงไม่เอาเปรียบคนอื่น, ไม่นิยมการใช้อำนาจข่มเหงผู้อื่นทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ,การมีจิตใจที่เป็นประชาธิปไตยในเชิงบวกโดยคำนึงถึงศีลธรรมอันดี, เคารพกฎหมายบ้านเมือง และเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม เป็นต้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น