นโยบายรัฐบาลที่ดีควรเป็นอย่างไร?

     การกำหนดนโยบายของรัฐที่ดีมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติ  ดังนั้นการจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของนโยบายนั้นควรจะทำให้เกิดเป็นจริงจากการกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision), ภารกิจ (Mission),เป้าหมาย (target),กลยุทธ์ (strategy)และทางเลือกกลยุทธ์ (Strategic choice) นำไปสู่แนวทางปฏิบัตินั้นจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่าลักษณะนโยบายที่ดีนั้นเป็นอย่างไร  ซึ่งผุ้เขียนขอแสดงทัศนะดังนี้
    1. นโยบายที่ดีควรกำหนดให้เป็นไปตามคำมั่นหรือภาระสัญญาที่มีต่อประชาชนสำหรับประชาชนที่เลือกตั้งเข้ามา และรวมถึงคลอบคลุมสิ่งที่ประชาชนไม่ได้เลือกเข้ามา เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนทุกฝ่าย รวมถึงความมั่นใจว่าเป็นนโยบายที่ส่งผลดีต่อประชาชนประเทศชาติสูงสุด แต่ในทางตรงกันข้ามนโยบายที่ไม่ดีมักเกิดขึ้นจากประจักษ์พยานที่เห็นแล้วว่ามีการละเลย หรือไม่ประนีประนอม และเป้นนโยบายที่ไม่ได้วางไว้ที่เป็นส่วนผสมจากการจัดลำดับความสำคัญของแก่นของสังคม (social core),เศรษฐกิจ และการเมือง
    2. นโยบายของรัฐที่ดีควรสร้างการมีส่วนร่วมในปัญหาที่สำคัญ เช่นการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในภาครัฐ โดยจัดทำให้มีหน่วยงานการมีส่วนร่วมภาคประชาชน เช่นการร่วมร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนส่วนใหญ่ และการผลักดันกฎหมายการมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ ในขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาวิกฤติของชาติควรมีนโยบายเร่งด่วนในการแก้ปัญหาที่เป็นความต้องการของประชาชนทุกฝ่าย โดยถือหลัก "รับฟังเสียงส่วนใหญ่ เงี่ยหูฟังเสียงส่วนน้อย" เปิดโอกาสให้มีเวทีสาธารณะภาคประชาชนในการขัดเกลานโยบายที่ยังมีช่องว่างไม่ได้ทำ
    3. นโยบายที่ดีเมื่อกำหนดภาพรวมกลาง ๆ แล้วจึงแตกย่อยในกำหนดจากความคิดเชิงบูรนาการ (integrative thinking) โดยรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายทุกอาชีพ, ทุกเสื้อสี,ทุกหมู่เหล่า แต่เมื่อตกลงตัดสินใจแล้วควรยอมรับฉันทามติ  เพราะบางครั้งการกำหนดนโยบายอาจมีผลกระทบต่อความรู้สึกที่ไม่ดีของคนบางกลุ่มบางเหล่าที่มีแนวคิดต่างกัน  การทำให้มีการตกผลึกความคิดเชิงนโยบายมาจากการมีมุมมองหลากมิติ (multidimensional viewpoints) จึงต้องเน้นการทำงานเป็นทีมนโยบาย, ทีมแผนงาน,ทีมนักวิชาการ หรือนักปฏิบัิติการ รวมถึงทีมภาคประชาชน
    4. นโยบายที่ดีต้องส่งเสริมบทบาททุกชนชั้นวิชาชีพให้ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด  เช่นถ้าเป็นคนรากหญ้าควรจัดสรรเงินสวัสดิการช่วยเหลือเช่นการรักษาพยาบาล, กองทุนคนยากจน ฯลฯ แต่ถ้าเป็นบุคคลระดับกลางก็ควรให้มีนโยบายเสริมสร้างนักธุรกิจ,นโยบายเกี่ยวกับการช่วยเหลือเงินทุนเพื่อการวิจัย,การศึกษา  ส่วนนักวิชาการควรให้เกียรติในทุกสาขาอาชีพเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงออกทางความรุ้  แม้ว่านักวิชาการอาจไม่เก่งปฏิบัติแต่การรับฟังนักวิชาการ และการให้เกียรติเข้าสมาคมเป็นสิ่งที่ดี เช่นควรจัดให้มีสมาคมผู้จบปริญญาเอกทั้งในประเทศ และต่างประเทศเข้าร่วมฟังทัศนะที่หลากหลายโดยกำหนดประเด็น หรือกระทู้ความต้องการเร่งด่วนในการแก้ปัญหา โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อการนี้ ในลักษณะเป็น Forum Meeting ตลอดทั้งปี
    5. นโยบายที่ดีต้องลดข้อขัดแย้งของสังคมที่แตกออกฝักฝ่าย  โดยหาทางเชื่อมความสามัคคีปรองดองในลักษณะทำทางเชื่อมรถไฟที่ไม่ทำให้ชนกัน แต่มีจุดเชื่อมหากัน เน้นการบริหารความสุขของประเทศ ในลักษณะแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง  และส่งเสริมนักการทหารระดับนำไปดูงานประชาธิปไตยในต่างประเทศเพื่อซึมซับบทบาทการเป็นทหารอาชีพ มากกว่ากองทหารที่ไม่มีระเบียบวินัยในการออกมาต่อต้านความรู้สึกของประชาชน  ผู้นำทหารควรมาจากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี มิใช่มาจากคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที หรือมีการแทรกแซงบทบาททหาร ทำให้ทหารมิใช่ทหารของปวงชน แต่กลับเป็นทหารของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
    6. นโยบายที่ดีควรให้ภาคประชาชนร่วมตรวจสอบทุกแง่ทุกมุม รวมทั้งขอความเห็นจากนักวิชาการ เช่นภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการตรวจสอบองค์กรอิสระ, ตุลาการมีคณะลูกขุนเพื่อป้องกันการใ้ช้กฎหมายสองมาตรฐาน, กรรมสภามหาวิทยาลัย,กรรมการเครือข่ายวิทยุโทรคมนาคม ฯลฯ  ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้แต่บุคคลตามวิชาชีพอย่างเดียวในฐานะผู้สังเกตุ, ผู้ตรวจสอบ และผู้เสนอแนะต่อภาครัฐ ฯลฯ
    7. นโยบายที่ดีควรตอบสนองความเปลี่ยนแปลงโลกาภิวัฒน์  สร้างพันธมิตรกับต่างประเทศตามชายแดน, ประเทศในแถบยุโรป, จีน, อินเดีย ฯลฯ เพื่อเข้ามาร่วมทุนในการสร้างโครงการขนาดใหญ่ (Big project) โดยรัฐอาจลงทุนน้อยที่สุด  แต่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้
    8. นโยบายที่ดีต้องขจัดปัญหาอคติ, ลำเอียง หรือการเลือกฝ่าย เช่นการจัดงบประมาณเพื่อการปรองดองผลประโยชน์แห่งชาติ, การส่งเสริมการทำงานเป็นทีมในทุกองค์การ เช่นนำทีมที่ประสบความสำเร็จมาเป็นแม่แบบการพัฒนาชาติบ้านเมือง แม้กระทั่งระบบราชการก็ต้องทำงานเป็นทีม นโยบายต้องยืดหยุ่นต่อการปรับตัว, และเน้นให้นักวิชาการลงภาคปฏิบัิติการ เช่นการดูงานเพื้อสร้างความเข้าใจแก่รากหญ้า, คนยากจน,  โครงการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นโดยให้นักวิชาการทุกวิชาชีพร่วมสร้างสรรค์ความเจริญ   รัฐบาลควรแบ่งงาน,กระจายงาน,มอบหมายงานและเสริมสร้างพลังอำนาจของชุมชนท้องถิ่นให้มีการถกเถียงอภิปรายเพื่อการพัฒนารากหญ้า โดยให้มีนักวิชาการร่วมรับฟังข้อเสนอแนะ และปรับปรุงแนวทาง ฯลฯ
   9. นโยบายที่ดีต้องทำให้ผู้ปฏิบัติตามนโยบายเข้าใจแจ่มแจ้ง และเห็นดีเห็นงามในการปฏิบัติตาม ไม่ควรรีบเปลี่ยนแปลงที่เร็วเกินไป และทำให้ผู้ปฏิบัิติตามนโยบายตามไม่ทัน ก็จะเกิดความรู้สึกต่อต้านการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะกลุ่มอนุรักษ์นิยมจะมีการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้เป็นเพราะเขาเคยชินกับรูปแบบเก่า ๆ หรือติดยึดทัศนะเดิม หรืออยู่ในวงแคบ ๆ ควรให้เขาเห็นในมุมกว้าง และเข้าใจปัญหาอย่างดื่มดำซึมซับ ก็จะสร้างความร่วมมือได้ ไม่ควรทำให้เป็นที่เพ่งเล็งว่าทำเพื่อใคร  แต่นโยบายนั้นทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน  แม้จะมีเสียงเล็กน้อยเข้ามาขัดขวางหรือต่อต้านก็จะอ่อนล้าและถอยลงไป เนื่องจากคลายความกดดันต่อการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่พึงปรารถนา
  10. นโยบายที่ดีเป็นลักษณะธรรมาภิบาล (good governance) คือทำด้วยความซื่อสัตย์, ตรงไปตรงมา, จริงใจกับประชาชนทุกหมู่เหล่า, ถือความถุกต้องแต่ไม่จำเป็นต้องถูกใจ, ถือความแตกต่างเป้นการมองคนละด้าน, เมื่อเกิดความผิดพลาดก็ไม่ซ้ำเติม แต่มีลักษะให้อภัย   ดังนั้นนโยบายที่ดีคือการให้อภัยทาน, การล่วงเกินซึ่งกันและกัน, การกล่าวขอโทษขอขมา, การช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากการสูญเสียโดยเร่งด่วน ฯลฯ
     สรุป สังคมหรือประเทศแห่งความสุขจำเป็นต้องมีการปรองดองในแง่ผลประโยชน์ทุกกลุ่มก้อน, ปรองดองแห่งความรู้สึกขัดแย้ง, ปรองดองแห่งการให้อภัย, ปรองดองแห่งการไม่ถือโทษโกรธเคือง,ปรองดองเพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่า, ปรองดองเฉลี่ยสุขสร้างมิตร, ปรองดองเพื่อลดชนชั้นกระจายรายได้, ปรองดองเพื่อสมานฉันท์ทำงานเป็นทีม, ปรองดองแห่งการพูดจา, ปรองดองเพื่อสิ่งที่ดีกว่า  แต่ไม่ใช่การปรองดองที่สร้างปัญหาสังคม, ปรองดองที่ทำร้ายสังคม, ปรองดองที่เอาเปรียบสังคม, หรือการปรองดองเพื่อการกดขี่เบียดเบียนคนจน, ปรองดองที่ทำให้คนไม่เสมอภาคหรือเป็นกฎหมายสองมาตรฐาน เป็นต้น  เพราะเป็นการปรองดองแบบประชาธิปไตยนั่นเอง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ระบบการเมืองที่ดีเหมือนปลาในอ่างแก้วที่มองเห็นตัวปลาชัดเจน

108 คำคมขงเบ้ง คำคมสอนใจ จากขงเบ้ง

ตัวแบบงบประมาณผูกพัน (Beyond Budgeting) ตอนที่หนึ่ง