แนวคิดในการจัดตั้งกระทรวงประชาธิปไตยเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
เนื่องจากแนวคิดประชาธิปไตยของไทยเป็นแนวคิดที่มีความสำคัญ และประชาชนมึความตื่นตัวต่อประชาธิปไตย จึงขอริเริ่มเสนอแนะองค์การ หรือหน่วยงานระดับชาติเพื่อสร้างสรรค์ประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในแผ่นดินไทย และเพื่อความมั่นคงในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของคนไทย โดยแนวคิดนี้อยากให้คนไทยได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการนำไปประยุกต์ใช้
1. ส่งเสริมให้มีวาระแห่งชาติว่าด้วยประชาธิปไตย โดยการประกาศเจตนารมย์ที่เป็นนโยบายแห่งชาติเพื่อส่งเสริมความสามัคคี,ปรองดอง ภายใต้การบูรนาการความคิดประชาธิปไตยไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อกำหนดนโยบายก็จัดให้มียุทธศาสตร์ที่ทุกกระทรวงทบวงกรมนำไปปฏิบัติใช้
2. จัดตั้งองค์การในรูปแบบกระทรวงประชาธิปไตย หรือองค์การประชาธิปไตยเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยให้มีบุคลากรทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และองค์การเป็นองค์กรรูปแบบพิเศษที่ขึ้นอยู่กับคณะรัฐบาล และคณะประชาชนได้ร่วมกัน การจัดตั้งกระทรวงประชาธิปไตยให้รวมเอากระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงความมั่นคงของมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน สำหรับโครงสร้างให้มีหน่วยงานระดับกรมรองรับ ได้แก่
2.1 กรม หรือองค์การสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน เป็นหน่วยงานที่พัฒนาสิทธิของประชาชน เช่นสิทธิในการเลือกตั้ง,สิทธิในการได้รับสวัสดิการภาครัฐ, สิทธิในที่ดินทำกิน และการใช้สาธารณูปโภค, สิทธิในการได้รับการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า, สิทธิในการทำกิน,สิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ฯลฯ
2.2 กรม หรือองค์การเสรีภาพของปวงชน เป็นหน่วยงานที่พัฒนาการใช้เสรีภาพของประชาชน การกำหนดกติกา,การนำเสนอแนวคิดเสรีภาพในทางปฏิบัติเพื่อไม่ละเมิดเสรีภาพในมนุษย์, การแก้กฎหมายที่ขัดต่อเสรีภาพของมนุษย์, การส่งเสริมเสรีภาพในการคิด,การขีดเขียน,การพูด และการใช้สื่อโฆษณา หรือการวิพากย์วิจารณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ฯลฯ
2.3 กรม หรือองค์การส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เป็นกรมหรือหน่วยงานที่ให้ความเสมอภาคในทุกรูปแบบ เช่นความเสมอภาคในการศึกษา, ความเสมอภาคในการทำงาน,ความเสมอภาคในการได้รับสวัสดิการภาครัฐ, ความเสมอภาคในการได้ัรับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, ความเสมอภาคในการเข้าไปมีส่วนร่วมในองค์การทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ, เอกชน,รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ
2.4 กรม หรือองค์การเพื่อเสริมสร้างภราดรภาพ และสมานฉันท์ เป็นองค์การที่ทำหน้าที่ในด้านการสร้างความรู้รักสามัคคีในลักษณะที่มีความเป็นคนไทยที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ไม่รังเกียจเดียดฉันท์คนในชาติด้วยกัน ให้เกิดความสามัคคี และทำให้สังคมรู้จักแบ่งปันหรือเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน
2.5 กรม หรือองค์การส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน เป็นหน่วยที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผน, การประชุม, การออกแบบความคิดเพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาโดยการสันติ,การจัดตั้งหน่วยงานการเมืองภาคประชาชนของแต่หมู่บ้าน,ตำบล,ท้องถิ่น, รวมทั้งองค์การนิสิตนักศึกษา, องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัย,วิทยาลัย,สถาบัน ฯลฯ
2.6 กรม หรือองค์การส่งเสริมวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตย เป็นกรมหรือหน่วยงานในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการสร้างค่านิยม,จารีต,ประเพณี เืพื่อการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดหรือการจัดการความรู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน
2.7 กรม หรือองค์การสร้างสรรค์สื่อประชาธิปไตย ส่งเสริมสื่อประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง มีทีวีเพื่อประชาธิปไตยโดยเฉพาะ และส่งเสริมให้ทีวี,สื่อวิทยุ,หนังสือพิมพ์ ให้ดำเนินการเป็นแบบประชาธิปไตย
3. จัดให้มีสภาประชาธิปไตย เพื่อร่วมกันนำเสนอ, วางแผน,ออกแบบ,ตรวจสอบและติดตามผลประเมินผล รวมทั้งจรรโลงประชาธิปไตยโดยให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นตัวแทน และนำเสนอบรรจุในรัฐสภา หรือเป็นกระทู้ที่ประชาชนต้องการให้แก้ปัญหา อันเป็นช่องทางให้รัฐสภานำปัญหาความเดือดร้อนเข้าสภา แต่มีการกลั่นกรองหรือจัดอันดับตามความจำเป็นในการบรรจุเป็นวาระ หรือญัตติที่นำเสนอแก่รัฐสภา
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการจัดองค์การรูปแบบใหม่ อาจจะขยาย,ยุบรวม, เพิ่มกระทรวงเพื่อให้เิกิดความรับผิดชอบในการดูแลประชาธิปไตยไม่ให้มีการส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชน, เสรีภาพของปวงชน และเพิ่มพลังอำนาจ (Empowerment) ของประชาชนอย่างแืท้จริง สำหรับบุคลากรทีมาทำหน้าที่นั้นจะไม่เรียกว่าข้าราชการ แต่เรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติงานเพื่อประชาชน หรือเรียกว่าผู้แทนพลเมือง ส่วนตำแหน่งผู้บริหารเรียกว่าประธานตัวแทนพลเมืองเพื่อประชาธิปไตย (เทียบเท่ากระทรวง), , เลขาธิการตัวแทนพลเมืองเพื่อประชาธิปไตย (เทียบเท่ากรม),หัวหน้าสำนักงาน (เทียบเท่ากอง)ตัวแทนพลเมือง ไม่มีตำแหน่งชั้นยศเหมือนกับกระทรวงทบวงกรมอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นนักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ส่วนผู้นำสภาเรียกว่า ประธานสภาประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น ซึ่งเป็นเพียงการแสดงข้อเสนอแนะเท่านั้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น