ข้อดีข้อเสีย, ปัญหาและโอกาสในนโยบายรถไฟฟ้าตลอดสาย 20 บาท

          "คมนาคม" เดินหน้าค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย คาดผู้โดยสารเพิ่มเป็น 9 แสนคนต่อวัน ชงรัฐชดเชยส่วนต่างรายได้ให้เอกชน คาดอีก2-3 เดือนสรุป เผยโมเดลแรกเริ่มได้ก่อน รถใต้ดินของบีเอ็มซีแอลเชื่อมกับแอร์พอร์ตลิงก์ "สุกำพล" ตรวจแอร์พอร์ตลิงก์ดูของจริงก่อนแก้ปัญหา
          นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคมเปิดเผยถึง นโยบายการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายตามนโยบายของรัฐบาล ว่าขณะนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ได้ศึกษาแนวทางการดำเนินงานแล้ว โดยจะนำเสนอพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณารายละเอียด ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการเจรจากับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ บีเอ็มซีแอล และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายใน 2-3 เดือนนี้
          ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ารวมประมาณ5.9 แสนคนต่อวัน หากจัดเก็บอัตราค่าโดยสารที่ 20 บาทตลอดสาย จะทำให้จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 9 แสนคนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นอีก 3 แสนคนต่อวัน คิดเป็นรายได้ประมาณ 18 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่ใช้เปรียบเทียบกับรายได้ปกติในปัจจุบัน ที่บีทีเอสและบีเอ็มซีแอลจัดเก็บได้ ยกตัวอย่าง ถ้าปัจจุบันบีเอ็มซีแอลมีผู้โดยสาร 2 แสนคนต่อวัน มีรายได้ 5 ล้านบาทต่อวัน บีทีเอสมีผู้โดยสารเกือบ 5 แสนคนต่อวันมีรายได้ 15 ล้านบาทต่อวัน แอร์พอร์ตลิงก์มีผู้โดยสาร3 หมื่นคน มีรายได้ 1 ล้านบาท รวมกัน 3 สายมีรายได้ 21 ล้านบาทต่อวัน แต่เมื่อเก็บที่ 20 บาทตลอดสายมีรายได้ 18 ล้านบาทเท่ากับรัฐต้องชดเชยส่วนต่างให้เอกชน 3 ล้านบาทต่อวัน แต่ถ้าเก็บ 20 บาทแล้วมีผู้ใช้บริการมาก และทำให้มีรายได้สูงกว่า 18 ล้านบาทรัฐก็ไม่ต้องชดเชย เป็นต้น
          นายสุพจน์ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีหน้าที่ในการหาแนวทางในการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและจะ ต้องเสนอกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ (สศช.)พิจารณาในเรื่องการจัดหาแหล่งเงินมาชดเชยให้เอกชนด้วย ส่วนผู้ตัดสินใจคือ ครม.จากนั้นจึงจะสามารถเจรจากับบีทีเอส และบีเอ็มซีแอลได้
          สำหรับการจัดเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายมี 2 โมเดลที่จะดำเนินการได้คือ 1. ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ของบีเอ็มซีแอลเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ โดยบีเอ็มซีแอลยืนยันว่าพร้อมที่จะเจรจา ส่วนแอร์พอร์ตลิงก์เป็นของรัฐไม่มีปัญหา
          2. ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เชื่อมกับแอร์พอร์ตลิงก์และบีทีเอสได้ ทั้ง 3 ระบบ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการประสานไปที่บีทีเอส
          อย่างไรก็ตาม การเชื่อมต่อดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ใช้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ทั้ง City Line และ Express Line เพิ่มจาก 4 หมื่นคนต่อวันเป็น 6 หมื่นคนต่อวัน
          "ผมได้นำข้อมูลเบื้องต้นหารือกับ รมว.คมนาคมแล้ว ส่วนจะเริ่มทันทีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ที่จะต้องสรุปว่าจะใช้รูปแบบใด เพราะจะต้องวิเคราะห์ว่าเอกชนจะได้อะไร เสียอะไร รัฐจะต้องชดเชยหรือไม่ และถ้าชดเชยจะเป็นจำนวนเท่าไร และจัดหาเงินชดเชยมาจากไหนซึ่งจะต้องเจรจากับเอกชนเพื่อขอตัวเลขที่แท้จริง ว่าแต่ละวันทั้งบีทีเอส และบีเอ็มซีแอลมีจำนวนผู้โดยสารและรายได้เท่าไรถึงจะเห็นตัวเลขที่ชัดเจน" นายสุพจน์กล่าว
          "สุกำพล"ตรวจแอร์พอร์ตลิงก์ก่อนสางปัญหา
          วานนี้ (18 ส.ค.) พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เรียกประชุมหัวหน้าหน่วยราชการใน สังกัดกระทรวงคมนาคม 6 แห่งประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก (บข.) กรมการบินพลเรือน (บพ.) กรมเจ้าท่า (จท.) กรมทางหลวง (ทล.)กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อรับทราบข้อมูลโครงการต่างๆ โดยกล่าวว่า วันนี้ (19 ส.ค.) จะประชุมร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางแก้ปัญหาโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ในเรื่องการให้บริการและเสียงดัง โดยทราบเบื้องต้นว่ามีปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ ส่วนจะแก้ไขอย่างไรนั้น จะต้องพิจารณาข้อมูลทั้งหมดก่อน
          ส่วนงบประมาณปี 2555 เบื้องต้นได้กำหนดกรอบไว้แล้ว โดยเป็นงบประมาณของหน่วยงานราชการ 9.5 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.56% ส่วนรัฐวิสาหกิจ3.75 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% ทั้งนี้จะมีการพิจารณาเพื่อปรับให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลอีกครั้ง  (จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)

           ข้อดีของการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า เป็น 20 บาทตลอดสายนั้น ช่วยให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครที่ไปทำงานได้หันมาใช้บริการมากขึ้น เพราะค่าน้ำมันรถยนต์ที่ใช้นั้นจะทำให้ประชาชนที่ขับรถต้องจ่ายค่าน้ำมันแพง  ทำให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น  และลดการแออัดบนท้องถนน หรือรถติดขัดจราจรทำให้เกิดความสิ้นเปลืองจากการที่รถไม่เคลื่อนไหว คิดว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร    ทำให้ประชาชนนอกจากจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างของภาครัฐและเอกชน และลดรายจ่ายประจำวันในเรื่องการเดินทางไปทำงาน   ทำให้ประชาชนมีเงินเหลือพอจับจ่ายใช้สอยในรายเดือนมากขึ้น  ช่วยให้เิกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการบริโภคสินค้าได้เพิ่มขึ้น  และผู้ประกอบการธุรกิจในเมืองก็จะมีพลังซื้อจากประชาชนมากขึ้น   ส่งเสริมการจ้างงานที่ขยายตัวและทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตกว่าเดิมที่ข้าวของแพงในทุกรายการ แต่เมื่อพลังงานราคาลดลง, การขนส่งลดลง ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าถูกลง ช่วยลดราคาสินค้า  แต่สิ่งสำคัญรัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในสภาพความเป็นจริง  โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพในปัจจุบัน  คงไม่พ้นอาหารการกิน และข้าวของที่จำเป็น
           ส่วนข้อเสียที่รัฐบาลอาจต้องเพิ่มภาระวันละ 3 ล้านบาทที่รัฐจะต้องหาเงินมาประคับประคองหากคิดเป็นรายปี รัฐต้องชดเชยเงินทั้งหมดประมาณ 3X365 = 1,095 ล้านบาทต่อปี  ก็เป็นเงินที่ไม่มากนัก แต่ถ้าหากประชาชนขึ้นรถไฟฟ้ามากกว่าที่ประมาณการ ก็สามารถชดเชยปัญหาที่ต้องจ่ายเพิ่มกว่าที่เป็นอยู่วันละ 3 ล้านบาทได้   โดยรัฐอาจหารายได้จากการลงทุนเพิ่มเติมในสถานีรถไฟฟ้าที่มีการขยายพื้นที่ค้าขายให้มากกว่าเดิม  หรือการจัดทำป้ายโฆษณาเพื่อรัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งในตัวรถไฟฟ้า, ป้ายตามสถานที่ต่าง ๆ, และในสถานีรถไฟฟ้า ก็จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้
           ปัญหาคุกคามต่อการที่รัฐต้องใช้เงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นวันละ 3 ล้านบาท ย่อมเป็นการเปิดประเด็นโจมตีของฝ่ายค้านที่หา่ช่องโหว่ในการโจมตี   แต่อย่างไรก็ดีนโยบายดังกล่าวเป็นที่ชื่นชอบของชาวกรุงเทพมหานครอยู่แล้ว  ทำให้คนกรุงเทพหันมาสนับสนุนนโยบาย และยอมรับความคิดที่ดีของรัฐบาล    
           โอกาสที่เกิดขึ้นของรัฐบาล คือการได้รับความพึงพอใจในบริการของภาครัฐบาล และภาพพจน์ของรัฐบาลดีขึ้น   แต่ทั้งนี้รัฐบาลก็มีโอกาสขยายเส้นทางรถไฟฟ้าในอนาคตอย่างรวดเร็ว  โดยรัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องลงทุน  แต่ใช้เงินทุนจากต่างประเทศ หรือผู้ที่สามารถรับโครงการรถไฟฟ้ามาทำต่อเส้นทางที่วางไว้โดยเฉพาะในเขตปริมณฑลเพิ่มขึ้น    นอกจากนี้ควรพิจารณาปรับปรุงรถไฟธรรมดา  หรือรถเมล์ที่อาจคิดค่าบริการราคาถูกเช่นกัน
           เข้าหลักที่ว่า "ทำในสิ่งที่ฝ่ายค้านยังไม่ได้ทำ และไม่ทำในสิ่งที่ฝ่ายค้านทำมีปัญหา"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ระบบการเมืองที่ดีเหมือนปลาในอ่างแก้วที่มองเห็นตัวปลาชัดเจน

การปฏิรูปการศึกษาในต่างประเทศ

ตัวแบบจำลองภารกิจของแอสริช (Ashridge Mission Model)