การโยกย้ายข้าราชการในยุครัฐบาลใหม่
เนื่องจากระบบราชการเป็นองคาพยพ หรือเป็นกลไกของระบบการเมือง ซึ่งการเมืองการบริหารเปรียบเสมือนเหรียญอันเดียวกันที่อยู่กันคนละด้าน เมื่อเกิดรัฐบาลใหม่ที่มีแนวคิดแตกต่างกับรัฐบาลเก่า การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งจึงเป็นเรื่องปรกติ เพื่อให้เกิดการสนองตอบต่อการทำงานทางการเมือง เพราะฝ่ายการเมืองเป็นผู้กำหนดนโยบาย แต่ข้าราชการที่ไม่ได้วางตัวเป็นกลางทางการเมืองนั้นก็สมควรถูกโยกย้ายได้ เพราะถ้าหากมีข้าราชการที่ต่างอุดมการณ์ ต่างความคิด การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลก็จะกระทำได้ด้วยความยากลำบาก ข้าราชการเป็นตำแหน่งที่มีระดับชั้นอยู่ภายใต้รัฐบาลการทำงานของข้าราชการหากไม่ตอบสนองกับฝ่ายการเมืองแล้ว การทำงานจะเกิดประสิทธิผลได้อย่างไร เพราะไม่สามารถทำงานสอดคล้อง หรือทำให้นโยบายของรัฐบาลนั้นดำเนินไปได้ด้วยดี และรวมถึงการตอบสนองต่อประชาชน ดังนั้นบางครั้งจำเป็นต้องมีการยกเครื่ององค์การขนานใหญ่ เพราะระบบคิดของรัฐบาลใหม่นั้นมีความแตกต่างกับรัฐบาลเก่าที่ผ่านมา รัฐบาลก็เหมือนรถยนต์ ระบบราชการก็เหมือนตัวเครื่องยนต์ หรือส่วนประกอบรถยนต์ หากอะไหล่ หรือเครื่องยนต์มันเ่ก่าชำรุด หรือทำหน้าที่ไม่ดี ก็ต้องเปลี่ยนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ แต่การโยกย้ายมิใช่การกลั่นแกล้ง ผู้บริหารรัฐบาลต้องกระทำด้วยจิตมุ่งมั่นเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติประชาชน บางครั้งต้องยกเครื่องทั้งชุด หรือเปลี่ยนอะไหล่ เพราะรู้ว่าขับไปรถก็ต้องเสียแน่นอนและเผลอ ๆ มีอุบัติเหตุด้วย ดังนั้นการโยกย้ายข้าราชการจึงเป็นเรื่องปรกติ แต่ขอให้คิดถึงผลงาน, หลักการ และระบบคุณธรรม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลควรเริ่มต้นระบบราชการที่ใช้ระบบคุณธรรมทั้งระบบ ขจัดปัญหาการที่ข้าราชการเป็นเครื่องมือของนักการเมือง แต่ข้าราชการควรเป็นบุคคลที่เป็นมืออาชีพ และมีจิตใจแบบประชาธิปไตย มิใช่จิตใจแบบเผด็จการ ทำงานด้วยอุดมการณ์ และเป็นคนมีฝีมือ หรือมืออาชีพ ต้องปั้นข้าราชการมืออาชีพ ไม่ควรให้ข้าราชการติดยึดกับอำนาจจนลืมการรับใช้ประชาชน, ข้าราชการควรรับใช้ประชาชน มิใช่รับใช้เจ้านายอย่างเดียว และต้องพยายามยกเลิกไม่ให้มีระบบราชการแบบขุนนาง เพราะการติดยึดขุนนางทำให้สังคมขาดความเท่าเทียมกัน ดังคำที่นักวิชาการชาวอเมริกันพูดไว้ว่า "หากสังคมมีขุนนางแล้วไซร้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาล" คำพูดนี้สะท้อนให้เห็นว่าหากสังคมมีระบบขุนนางเท่ากับสร้างสังคมไร้ความเท่าเทียมนั่นเอง และข้าราชการก็จะถือตัว วางตัวใหญ่กับประชาชน มองข้ามประชาชน และไม่สนใจประชาชน มองประชาชนไม่มีความหมาย ทำให้ประชาชนมีลักษณะของการขาดอำนาจ หรือที่เรียกว่า "Powerless" ส่วนผู้ปกครองมีอำนาจมากเกินไปก็จะกลายเป็น "powerful" ทำให้สังคมขาดที่พึ่ง เพราะ สส.เข้าสภาแล้วก็ลืมประชาชน ไม่เห็นหัวประชาชน ต่อเมื่อเกิดคนบางกลุ่มที่มีอำนาจเหนือกว่ามาทำลายนักการเมือง ท้ายที่สุดนักการเมืองก็ต้องพึ่งประชาชน ดังนั้นสังคมประชาธิปไตยต้องทำให้คนเท่าเทียมกัน ทำให้ข้าราชการรับใช้ประชาชนให้จงได้ ถ้าทำไม่ได้สังคมประชาธิปไตยก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า ถึงเวลาที่้ต้องเปลี่ยนแปลงให้เข้าที่เข้าทาง และจัดวางระบบที่เป็นกลางนั่นคือระบบคุณธรรมทั้งระบบ หากไม่แก้ไขก็ไม่มีทางแก้ปัญหาประเทศนี้ได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น