โมเดลตัวอย่างในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

       


             การแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยที่รัฐบาลได้จัดให้มีหน่วยงานที่บัญชาการเกี่ยวกับการแก้ไขภัยพิบัติสาธารณะไว้ที่จุดเดียว   เพราะสภาพการทำงานที่ต่างคนต่างทำ และขาดแผนใหญ่ในภาพรวม ทำให้การแก้ปัญหาจึงเป็นสภาวะที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ทันเหตุการณ์  ซึ่งจริง ๆ เรื่องนี้ต้องมีการวางแผนมาอย่างยาวนาน และทำงานอย่างต่อเนื่องชนิดการเฝ้าดูอย่างไม่กระพริบสายตา เพื่อความไม่ประมาท รวมทั้งการวางแผนภัยพิบัติด้านอื่น ๆ ที่ไม่อาจคาดคิดจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต คือสีนามิ, แผ่นดินทรุด, แผ่นดินไหว, วาตภัย, และอื่น ๆ  ซึ่งปัจจุบันนี้แนวคิดการจัดการวิกฤติกลายเป็นประเด็นหลักของทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย  การกล่าวโทษในสถานการณ์ปัจจุบันจึงไม่ถูกต้อง เพราะปัญหานี้เกิดจากการขาดการวางแผนแก้วิกฤติมาล่วงหน้า เพราะในอดีตรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมายังขาดการให้สัญญาอาการที่อันตราย หรือวางแผนล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องจากโลกปัจจุบันกลายเป็นโรคแห่งวิกฤติโดมิโนที่เป็นไปทั่วโลก จึงต้องเตรียมวางแผนล่วงหน้าซึ่งจะเป็นผลดีหากรัฐบาลทำได้ จะทำให้ประเทศที่ไม่มีความมั่นคงในการจัดการวิกฤติก็จะช่วยให้ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ต่างชาติมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัย  ถึงแม้ว่าความคิดทางการเมืองที่ต่างกันทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการทำงานแบบทีมงานก็ตาม แต่ประชาชนปัจจุบันมีความเข้าใจว่าปัญหาทางการเมืองที่มุ่งขัดแย้งกันเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ชอบ แต่อยากให้นักการเมืองสามัคคีกัน เพราะผู้ที่มีความเห็นต่างกันเวลาทำงานนั้น จิตใจในการทำงานที่จริงจังนั้นอาจย่อหย่อน  ทำให้เป็นภาระที่ยากลำบากกับรัฐบาลอย่างยิ่ง เพราะรัฐบาลเพิ่งเข้ามาใหม่ และต้องอาศัยคนทุกฝ่ายร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบ   ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรจัดตั้งคณะทำงานนั้น ผู้เขียนเสนอความเห็นโครงสร้างตัวอย่างเป็นความเห็นส่วนตัวดังนี้
           1. คณะกรรมการฝ่ายบริหารสาธารณะ   เป็นฝ่ายบัญชาการ ในลักษณะการรวมศูนย์อำนาจในการสั่งดำเนินงานโดยมีแผนรวมระดับชาติ หรือโรดแมปเกี่ยวกับเส้นทางการระบายน้ำ, ข้อมูลเกี่ยววิชาการเกี่ยวกับการปล่อยน้ำ,วิชาการเกี่ยวกับเขื่อนกักเก็บน้ำ, วิศวกรออกแบบท่อน้ำให้ใหญ่เหมือนต่างประเทศเพื่อให้เกิดการระบายไปสู่ทะเลหรือแม่น้ำอย่างรวดเร็ว ฯลฯ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยให้รัฐมนตรีทุกกระทรวง และปลัดทุกกระทรวงร่วมประสานงานภัยพิบัติ หรือการวางแผนในอนาคต 
           2. คณะกรรมการฝ่ายเทคนิค และเทคโนโลยี เป็นฝ่ายเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ได้แก่วิศวกรชลประทาน, วิศวกรแหล่งน้ำ, แพทย์เกี่ยวกับโรคทางน้ำ, พยาบาล, วิศวกรออกแบบแก้ปัญหาน้ำท่วม เพื่อปกป้องน้ำท่วม เช่นการออกแบบการสร้างกำแพงแบบ knock donw ,ออกแบบเรือ,ออกแบบการวางกำแพงทราย, ออกแบบกำแพงกั้นน้ำเจ้าพระยาเพื่อรองรับน้ำทะเลหนุน, ออกแบบการจัดทำป้ายเพื่อเตือนภัย หรือเพื่อขอความร่วมมือ, และรวมถึงผู้ที่เชี่ยวชาญด้านสื่อ, เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์, และการจัดเอกสารแจกประชาชนเป็นสมุดปกขาวเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการให้ความร่วมมือ
           3. คณะกรรมการฝ่ายอาสาสมัครบรรเทาภัยสาธารณะ  ควรจัดระบบการอาสาสมัครภายใต้วิกฤติน้ำท่วม และหลังวิกฤติ  ซึ่งถือเป็นโอกาสดีก็ที่รัฐบาลจะได้สร้างความสามัคคีปรองดองภายในชาติจากวิกฤติน้ำท่วม  ภายใต้วิกฤติกลับสร้างโอกาสการมีส่วนร่วม  ในทั่วประเทศทั้งจังหวัด,อำเภอ,ตำบล โดยข้าราชการต้องทำงานร่วมกับประชาชน และรับฟังประชาชนในแต่ละพื้นที่ และเป็นโอกาสทำความเข้าใจกับราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ ในความร่วมมือ 
           4. คณะกรรมการพิจารณาผลกระทบความเสียหายจากวิกฤติ และการฟื้นฟูหลังวิกฤติ เป็นคณะกรรมการที่แสวงหาข้อมูล และรายงานต่าง ๆ จากเริ่มวิกฤติจนวิกฤติเริ่มคลี่คลาย ว่ามีความเสียหายต่อเศรษฐกิจประมาณการเท่าใด  คณะกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้แสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบ และเสนอแนะเยียวยาการแก้ัปัญหากับคณะกรรมการฝ่ายบริหารสาธารณะ
           5. คณะกรรมการจัดการความรู้ระดับชาติ  ควรจัดคณะอนุกรรมการระดับชาติ,ภูมิภาค,และระดับท้องถิ่น และระดับ กทม.และพัทยา เพื่อให้เกิดการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ และเป็นเชิงบูรนาการ โดยให้มีโครงสร้างชั่วคราวในหน่วยงานทุกระดับ เพื่อให้มีตัวแทนที่ช่วยเหลือ หรือสงเคราะห์อย่างปัจจุบันทันด่วน  ในทุกหน่วยราชการ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยควรตื่นตัวในการวางหันมาศึกษาเกี่ยวกับหลักสูตรการจัดการวิกฤติทุกมหาวิทยาลัย    ซึ่งเราจะสังเกตุว่าเรามีข้าราชการมากมายแต่ระบบการทำงานกลับขาดประสิทธิภาพ เพราะโครงสร้างเดิมไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศนี้ได้อีกต่อไป จึงควรยกเครื่ององค์กรได้
           6. คณะกรรมการจัดการเกี่ยวกับการสร้างโรดแมปทางเลือกในการแก้ปัญหาทั้งระบบ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาเป็นที่ปรึกษาการบริหารวิกฤติ จากประสบการณ์ในหลายประเทศ โดยใช้มืออาชีพ เพราะแนวทางแก้ปัญหาของไทยมีลักษณะเหมือนโรงเรียนอนุบาล ไม่ใช่แบบอุดมศึกษา   หมายถึงว่าการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน มิใช่แนวทางแก้ปัญหาแบบไม้ล้มลุก รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญของไทยในสายงานต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาระดับชาติ โดยมีแผนที่ภาพรวมทั้งระบบ และจะต้องมีการจัดทำแผนที่ป้องกันน้ำท่วม  แจกจ่ายแก่ตัวแทนคนไทยในทุกระดับทั้งประเทศ เพราะหากเกิดปัญหาจะได้มีระบบการรายงานได้อย่างรวดเร็ว  วิกฤติครั้งนี้เหมือนกับเป็นการคาดเดา แต่ขาดข้อมูล  การทำงานเป็นแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าจะวางแผนป้องกันก่อน (Proactive Preventive)
           7. คณะกรรมการฝ่ายฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังวิกฤติ คณะกรรมการชุดนี้จะทำการแสวงหาทุนช่วยเหลือต่างประเทศ , การกู้ยืมเพื่อแก้ปัญหา, การพัฒนาเศรษฐกิจ  ทั้งนี้ต้องอาศัยนักเศรษฐศาสตร์เข้ามาคาดคะเนแบบจำลองเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบรวดเร็ว  เกี่ยวกับการจ้างงานบุคคลที่ตกงานภายใต้วิกฤติ, การจ้างอาสาสมัครเพื่อฟื้นฟู  และรวมทั้งการวางแผนเศรษฐกิจแบบมหภาค แบบภาพรวม   รวมทั้งแผนแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจภายใต้วิกฤติ  เพราะปัจจุบันรัฐบาลมีเฉพาะแผนเศรษฐกิจที่จะทำในอนาคต แต่ควรสำรองแผนว่าหากเกิดวิกฤติจะวางแผนเศรษฐกิจเิชิงพลวัตรอย่างไร เพื่อเยียวยาปัญหา, และเพื่อพลิกวิกฤติเป็นโอกาส  การมีโมเดลแบบเิชิงบูรนาการอาจจะช่วยสร้างความหวังของประชาชน ความหวังของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและควรทำอย่างยิ่ง
           สรุป โมเดลคณะกรรมการเป็นเพียงตุ๊กตา และอาจมีคณะกรรมการที่แตกต่าง หรือมีมากกว่านี้ อยู่ที่การพิจารณาของรัฐบาล  อย่างไรก็ตามปัญหาทั้งหลายต้องอาศัยความร่วมมือของคนทั้งประเทศ  การที่จะมอบหมายเพียงรัฐบาลฝ่ายเดียวในปัจจุบันย่อมทำไม่ได้แล้ว  และการกล่าวโทษกันนั้นควรมีข้อเสนอแนะที่ตามมาเพื่อแสดงถึงน้ำใจช่วยเหลือด้วยความจริงใจ  จึงคิดว่าถึงเวลาที่คนไทยควรสามัคคี และปรองดองภายใต้วิกฤติ ซึ่งวิกฤตินี้แม้แต่คนที่มีฐานะดีก็อาจกลายเป็นคนลำบากตามไปด้วย หากเราประมาทกัน


          

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ระบบการเมืองที่ดีเหมือนปลาในอ่างแก้วที่มองเห็นตัวปลาชัดเจน

ตัวแบบจำลองภารกิจของแอสริช (Ashridge Mission Model)

การปฏิรูปการศึกษาในต่างประเทศ