ทำไมเมืองไทยจึงไม่พัฒนา ?
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในแง่ทรัพยากรธรรมชาติเป็นอันดับ 7 ของโลก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ถั่วเฉลี่ยต่อปีของคนในประเทศทั่วโลกจากการจัดอันดับเมื่อปี พ.ศ. 2009-2010 จากองค์การไอเอ็มเอฟในปี 2010 ไทยติดอันดับที่ 86โดยรายได้ต่อหัวโดยเฉลี่ยเท่ากับ 9,187 เหรียญสหรัฐจาก 183 ประเทศและจากการจัดอันดับของธนาคารโลกไทยในปี 2009-2010 ติดอันดับที่ 80 โดยรายได้ต่อโดยเฉลี่ยหัวเท่ากับ 8,612 เหรียญสหรัฐจาก 172 ประเทศ และจากการจัดอันดับของซีไอเอในปี 1993-2010 พบว่าไทยติดอันที่ 93 มีรายได้ต่อหัวโดยเฉลี่ยเท่ากับ 8,700 เหรียญสหรัฐ จาก 193 ประเทศ คิดเป็นเงินโดยประมาณ 250,000-280,000 บาทต่อหัวต่อปี คิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 2 หมื่นกว่าบาทต่อเดือน หากคิดเป็นวันประมาณ 600-700 บาทต่อวัน และหากคิดรายได้ถัวเฉลี่ยต่อหัวต่อคนต่อปีสำหรับคนยากจนจะได้ประมาณ 30,000-40,000 บาทต่อหัวต่อปี และคิดเป็นรายได้ต่อเดือนประมาณ 3,000-4,000 บาทซึ่งเป็นรายได้ที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศที่มีทรัพยากรน้อยกว่าเช่นสิงคโปร์ประมาณการ 56,200 เหรียญสหรัฐคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.6 ล้านบาทต่อหัวต่อปีจัดอยู่ในอันดับ 4 ของโลก หากคิดรายได้ถัวเฉลี่ยต่อคนเป็นเืดือนจะมีรายได้ประมาณ 150,000 บาทต่อเดือน หากคิดเป็นวันจะได้วันละ 5,000 บาท จะเห็นว่ารายได้ถัวเฉลี่ยของคนสิงคโปร์จะมีรายได้มากกว่าคนไทยประมาณ 7-8 เท่าตัว ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์มีทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างน้อย ไม่อุดมสมบูรณ์เทียบเท่ากับประเทศไทย ปัจจัยใดเป็นสาเหตุที่ประชาชนในประเทศไทยจึงล้าหลังกว่าประเทศสิงคโปร์ ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
1. ปัจจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ หากเทียบกับทรัพยากรธรรมชาติแล้ว สิงคโปร์ไม่สามารถเทียบได้กับประเทศไทย แต่ประชาชนของสิงคโปร์เป็นคนมีระเบียบวินัย, มีความขยันขันแข็ง ประชาชนมักมีหัวการค้าการขายเก่งกว่า และมีมืออาชีพด้านการเงิน, เศรษฐกิจมากกว่าประเทศไทย ทั้ง ๆ ที่ทรัพยากรธรรมชาติด้อยกว่าไทยหลายเท่าตัว แต่ประชาชนกลับมีรายได้มากกว่าคนไทยหลายเท่าตัว
2. การมีผู้นำที่มีความสามารถสูง และมีอุดมการณ์และวิสัยทัศน์กว้างไกล ทำงานเพื่อประเทศชาติประชาชน ประกอบกับการบริหารงานเน้นความเป็นเลิศเทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย และเหนือชั้นกว่าด้วยซ้ำไป จึงทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่ผงาดเทียบชั้นกับประเทศพัฒนามาหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับผู้นำทางการเมือง และธุรกิจไม่มีปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น หรือการโกงกัน
3. สิงคโปร์มีระบบการศึกษาที่มีความเจริญก้าวหน้าเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสามารถอ่าน,พูด,เขียนได้หลายภาษา และพูดภาษาต่างประเทศได้คล่อง ในขณะที่ระบบการศึกษาไทยคนไทยพูดได้เฉพาะภาษาไทย ส่วนภาษาต่างประเทศเช่นภาษาอังกฤษยังพูดอ่านเขียนไม่คล่อง ทำให้การเจรจาติดต่อการค้าของไทยไม่คล่องตัว แต่จะดีเฉพาะคนบางกลุ่มที่เรียนจากต่างประเทศมาเท่านั้น ซึ่งยังมีค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
4. ประเทศสิงคโปร์ไม่มีปัญหาการเมืองที่วุ่นวายสับสนเพราะการแก่งแย่งในเรื่องของอำนาจ หรือผลประโยชน์กัน มีลักษณะการเมืองนิ่ง, มีความสงบ, ทำให้การท่องเที่ยวสิงคโปร์มีผู้คนทั่วโลกหลั่งไหลมาท่องเที่ยวไม่ขาดสาย แต่ขณะที่ประเทศไทยการเมืองสับสน มักมีการก่อการรัฐประหารเป็นที่ขายหน้าต่างประเทศ เพราะมัวสนใจแต่เรื่องการแย่งอำนาจ,ผลประโยชน์ทำให้การเมืองไทยไม่นิ่ง และไม่ค่อยสงบ จึงทำให้ประชาชนไทยเดือดร้อน และนักธุรกิจของไทยประสบปัญหาการทำธุรกิจที่ขาดทุน หรือไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
5. ปัญหาของคนในชาติขาดความเสียสละเพื่อบ้านเมือง ซึ่งหมายถึงการที่คนชั้นสูงหรือนายทุนนักธุรกิจที่ร่ำรวย ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนยากจน หรือพัฒนาบุคลากรที่เป็นผู้ใช้แรงงาน ทำให้คนไทยที่มีรายได้้น้อยอยู่ในฐานะยากจน ไม่สามารถเป็นกำลังของคนในชาติ และประกอบกับรัฐบาลที่ได้อำนาจมาอย่างไม่ชอบธรรมได้ซ้ำเติมความยากจนให้กับประชาชนไทยเป็นอย่างมาก ไม่ได้อุทิศตัวเพื่อให้ประชาชนอยุ่ดีกินดี นายทุนไทยสมคบกับชนชั้นผู้มีอำนาจและหันหลังให้กับคนจนส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้คุณภาพชีวิตคนไทยในภาพรวมตกต่ำ และไม่มีทางออกของชีวิต ซึ่งเป็นปัญหาที่บุคคลที่มีอำนาจมีความเห็นแก่ตัวมากกว่าส่วนรวม
6. ปัญหาประเทศไทยไม่ได้ปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างจริงจัง แต่มีลักษณะการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบผสมผสาน คือการปกครองแบบประชาธิปไตยผสมกับเผด็จการทำให้ทิศทางการเมืองไทยสับสน ขาดเอกภาพหรือสิ่งยึดเหนี่ยวของชาติไปในทิศทางเดียวกัน เหมือนพายเรือในอ่าง เกิดวงจรอุบาทว์ทางการเมืองหลายครั้งหลายครา สภาพสังคมสับสนไร้ระเบียบวินัยในการดำรงความเป็นชาติ รวมทั้งการไม่ผสมผสานความคิดที่แตกต่างกันและยอมรับความแตกต่างของคนในชาติ เพราะความคิดไปกันคนละทิศทาง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลต้องจริงจังกับการพัฒนาประชาธิปไตย
7. ปัญหาเศรษฐกิจไทยไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่ปัญหาการเมืองต่างหากที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเดินถอยหลัง อย่างที่เห็นเด่นชัดคือการขัดแย้งของคนในชาติ, การไม่สามารถสร้างความสามัคคีของคนในชาติได้สำเร็จ เพราะเศรษฐกิจไทยน่าจะดีกับคนทุกฝ่ายเนื่องจากทรัพยากรของไทยมีมาก คือในน้ำมีปลา, ในนามีข้าว, ในอ่าวมีแ่ก๊สและน้ำมัน รวมทั้งเหมืองทองคำและอื่น ๆ แต่เหตุไฉนประเทศไทยจึงมีคนยากจนเต็มบ้านเต็มเมือง และมีคดีอาชญากรรมมากมายเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน
โดยสรุป ประเทศไทยจะต้องมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง และมีความสามารถทางเศรษฐกิจ และสิ่งสำคัญคือการเมืองไทยมีลักษณะการอ่อนไหวในเรื่องผลประโยชน์มากเกินไป ซึ่งหมายความว่าคนในชาติมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ของตนเองจนลืมเรืองส่วนรวมกันมาก ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยให้เป็นคนเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวมให้มาก และรัฐบาลต้องส่งเสริมคนดี, คนซื่อสัตย์ และส่งเสริมคนมีความรุ้ความสามารถมาร่วมกันพัฒนาประเทศไทยอย่างกว้างขวาง โดยไม่มุ่งทางวัตถุแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเยียวยาจิตใจที่เสียสละมุ่งมั่นเพื่อประเทศให้เจริญก้าวหน้าให้จงได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น