ทำไมมนุษย์จึงแย่งอำนาจกัน

 

        พฤติกรรมการแย่งอำนาจหรือของรักของหวงนั้น มนุษย์มีมาตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งโตขึ้นมา ตอนเด็ก ๆ เราก็จะแย่งข้าวของ หรือของรักกันเช่นตุ๊กตา, รถเด็กเล่น เป็นต้น แม้กระทั่งแย่งความรักที่มาจากบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้า นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ พอตอนโตก็แย่งผลประโยชน์หรืออำนาจกันซึ่งเราจะสังเกตได้จากพฤติกรรมของคนเราล้วนแล้วเป็นอย่างนี้   เพียงแต่ว่าใครจะมีจิตสำนึกเกี่ยวกับสิ่งที่ได้มานั่นคืออำนาจนั้นว่ามีหิริโอตัปปะมากกว่ากัน  บางครั้งการแย่งกันก็ถึงกับการทำลายร่างกาย หรือการเข่นฆ่ากันถึงเสียชีวิต เช่นในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นมักจะมีการลอบยิงกันตายอันเนื่องจากการขัดผลประโยชน์กัน ทำให้มนุษย์เราใกล้ความเป็นสัตว์มากขึ้นทุกที ทั้งนี้เป็นเพราะขาดศีลธรรมจรรยา หรือการละอายต่อบาปกรรมหรือการก่อกรรมชั่ว  ซึ่งเสียดายที่บ้านเราเป็นเมืองพุทธศาสนามีวัดอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง แต่ไม่สามารถจรรโลงศีลธรรมให้กับผู้ที่มักใหญ่ใฝ่สูงได้  หนทางใดที่จะได้อำนาจมาแม้แต่จะกระทำสิ่งเลวร้ายก็ยอมทำ เพราะมัวเพ่งเล็งที่ผลประโยชน์ที่เป็นทรัพย์สินเงินทอง, เกียรติยศ,อำนาจ และอิทธิพล ยามใดที่มนุษย์เราสูญเสียก็มักจะอดรนทนไม่ได้ จะแสดงปฏิกิริยาให้เห็น หากแสดงบ่อย ๆย่อมส่อถึงว่ามีกิเลสเกี่ยวกับอำนาจมากเท่านั้น  แม้ว่าจะพยายามปิดบังอำพรางมากมายเพียงใด แต่ท้ายที่สุดก็สามารถจับเล่ห์เพทุบายได้
          มนุษย์จึงเป็นสัตว์การเมืองอย่างที่นักวิชาการหลายคนเป็นอย่างนั้น   เพียงแต่ว่าเราเป็นนักการเมืองที่สร้างสรรค์หรือไม่
         แบบที่ 1 คนที่มีพฤติกรรมกล้าได้กล้าเสียหรือเปิดเผยต่อการต่อสู้ในอำนาจอย่างตรงไปตรงมา ก็จะสามารถแสดงความเป็นผู้นำ แต่ก็มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงในการใช้คำพูด หรือการถูกปลุกเร้าอารมณ์ให้โกรธ  แม่ทัพนายกองที่โกรธง่ายอย่างเตียวหุยในสามก๊กก็มักตกเป็นเหยื่อของการยั่วยุอารมณ์ให้เกิด เพราะเป็นจุดอ่อนทำให้ขาดสมาธิในการรบ ทำให้ขาดการวางแผนเป็นอย่างดี และตกหลุมพรางของฝ่ายตรงข้ามได้โดยง่าย  บุคคลที่มีพฤติกรรมแบบนี้เป็นคนน่าเห็นใจ และน่ายกย่องเพียงแต่ว่ากลยุทธ์เหล่านี้จะพ่ายแพ้ได้โดยง่าย และสุ่มเสี่ยงสูง แต่หากทำสำเร็จก็จะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญชาญชัย  อย่างเช่นพระเจ้าตากสินมีความกล้าหาญในการฝ่าวงล้อมข้าศึก และสามารถกุ้ชาติได้สำเร็จ   คนที่มีพฤติกรรมแบบนี้จะมีประมาณ 5-10 %
         แบบที่ 2  คนที่มีพฤติกรรมแบบเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตามก็จะไม่ฝืนกระแส สามารถเหยียบเรือสองแคมได้ ใครชนะก็เข้าได้ ใครแพ้ก็ไม่กล้าไปต่อสู้แทน เป็นลักษณะของการเอาตัวรอดถือว่ารักษาประโยชน์เฉพาะตนดีกว่า  ลักษณะนี้ไม่สามารถจะเป็นผู้นำสังคมได้ เพราะชีวิตทั้งชีวิตไม่เคยลิ้มรสกับการต่อสู้เพื่อได้มา คนที่มีพฤติกรรมแบบนี้จะมีประมาณ 30-40 %
         แบบที่ 3  คนที่มีพฤติกรรมแบบพี่งผู้อื่น ไม่สามารถยืนหยัดด้วยตนเองได้ ต้องมีผู้นำที่คอยกำกับจึงจะเข้าสมัครพรรคพวกเพื่อตนเองจะได้มีที่พึ่งพา  เพราะไม่สามารถนำด้วยตนเองได้ต้องได้รับการสนับสนุน หรือได้รับพลังบันดาลใจจากผู้อื่น ยึดมั่นตัวบุคคลมากกว่าหลักการ ซึ่งเหมาะกับการเป็นผู้ตามที่ดี คนที่มีพฤติกรรมแบบนี้จะมีประมาณ 20-30%
         แบบที่  4 คนที่มีพฤติกรรมแบบมีนิสัยน้ำใสใจจริง ยอมถวายหัวเพื่อกับผู้นำที่เขารักเทิดทูนว่าเป็นคนดีสำหรับเขา เป็นนักต่อสู้ไม่ท้อถอยมีความจริงใจต่อบุคคลที่คบค้าสมาคม ไม่มีเล่ห์กระเท่ ยึดมั่นในหลักการมากกว่าตัวบุคคลจัดว่าเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมแบบนี้มีประมาณ30-40%
         แบบที่่ 5  คนที่มีพฤติกรรมแบบเจ้าเล่ห์เพทุบาย หรือเป็นแบบเสือสิงห์กระทิงแรดนี้จะเป็นบุคคลที่มีแผนการอย่างแยบยลในลักษณะลับ,ลวง, พราง เป็นบุคคลที่น่ากลัว และไม่สามารถจะคบได้อย่างสนิทใจหรือยั่งยืน สามารถแปรผันได้ตลอดเวลา หรือมีลักษณะของการคำนึงผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม  หากเป็นผู้นำก็มักจะเป็นผู้นำที่เป็นคนอำมหิต ไม่คำนึงถึงชีวิตจิตใจผู้อื่น คนที่มีพฤติกรรมแบบนี้จะมีประมาณ 5-10 % คนเหล่านี้มักจะได้เป็นผู้นำ 
          ในทางการเมืองคนที่เป็นผู้นำแบบที่่ 1 กับแบบที่ 5 มีการแย่งชิงมวลชนที่เป็นแบบที่ 2 และแบบที่ 3    ผู้นำแบบที่ 1 มักจะได้แบบที่ 3 และแบบที่ 4 เป็นพวกส่วนใหญ่ แต่ก็อาจได้มวลชนแบบที่ 2 ก็ได้ หากมวลชนแบบที่ 2 พิจารณาแล้วว่าถ้าแบบที่ 1 ชนะก็เฮไปแบบที่ 1   ส่วนนักการเมืองแบบที่  4 ก็มักอาศัยมวลชนแบบที่ 2 และแบบที่ 3  แต่ในระยะยาวผู้นำแบบที่ 1 จะได้เปรียบมากกว่าเพราะธรรมชาติมนุษย์จะชอบผู้นำที่จริงใจ,มีหลักการทำงานเก่ง   แต่แบบที่ 5 จะเป็นคนคอยฉวยโอกาส หรือใช้ลับลวงพรางเก่ง แต่ไม่เก่งในการทำงาน แต่เก่งในการพูด
         ดังนั้นผู้นำที่เป็นนักเผด็จการจะเสียเปรียบในยุคปัจจุบัน เพราะไม่ค่อยมีมวลชนสนับสนุน การจะยึดอำนาจเพื่อให้ตนเองได้รับความสำเร็จจึงเป็นเรื่องลำบาก และห่างตัวมากขึ้น  และผู้นำที่คอยฉวยโอกาสจังหวะสถานการณ์จะได้รับการยอมรับไม่มากนัก เพราะปัจจุบันคนมีความรู้เท่าทันมากขึ้น ดังนั้นผู้นำที่จริงใจ และยึดมั่นในอุดมการณ์จะเป็นจุดยืนที่มวลชนส่วนใหญ่ต้องการ และเป็นที่พึ่งของเขาได้อย่างแท้จริง  รวมทั้งผู้นำที่มีท่าที่อ่อนน้อม หรือนุ่มนวลจะได้เปรียบ เพราะเปรียบเสมือนน้ำหยดลงหิน ทุกวันหินมันยังกร่อน  แม้มือเหล็กเปียกน้ำบ่อย ๆ เหล็กก็ยังเป็นสนิมและเปราะได้ง่าย  ผู้นำที่มีลักษณะนิ่มนวล แต่แข็งในจึงได้เปรียบในยุคนี้ รวมทั้งมีความจริงใจทั้งต่อหน้าและลับหลังจึงเป้นผู้นำที่ทั่วโลกต้องการ (สรุปง่าย ๆว่าธรรมะย่อมชนะอธรรม)


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ระบบการเมืองที่ดีเหมือนปลาในอ่างแก้วที่มองเห็นตัวปลาชัดเจน

การปฏิรูปการศึกษาในต่างประเทศ

ตัวแบบจำลองภารกิจของแอสริช (Ashridge Mission Model)