ความกล้าหาญเชิงจริยธรรม
ความกล้าหาญเชิงจริยธรรมหมายถึงความกล้าหาญในการพูดความจริงและกล้าเผชิญกับภยันตรายโดยปราศจากการใส่ใจว่าจะเกิดผลอะไรเกิดขึ้น มันหมายถึงความพร้อมในการเผชิญหน้ากับสิ่งยุ่งยากอย่างใหญ่หลวงเพื่อที่จะแสวงหาความจริงและความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญเชิงจริยธรรมแสดงถึงลักษณะของบุคคลนั้นว่ามีความเข้มแข็งอย่างไร เป็นการยากมากที่จะแสดงถึงความกล้าหาญเชิงจริยธรรมมากกว่าแสดงความกล้าหาญทางกายภาพ ความกล้าหาญเชิงจริยธรรมอาจหมายถึงการยอมรับจุดอ่อนหรือความผิดพลาดก่อนผู้อื่น มันอาจจะหมายถึงการพูดในสิ่งที่ถูกต้องหรือแม้แต่เมื่อคนอื่น ๆไม่ชอบมัน ความกล้าหาญทางกายภาพหมายถึงการแสดงถึงความเข้มแข็งทางร่ายกาย ความกล้าหาญเชิงจริยธรรมขึ้นอยู่กับความเชื่อหรือความคิดอย่างมั่นคงเด็ดเดี่ยว รัฐบุรุษหรือนักการเมืองมักมีความกล้าหาญเชิงจริยธรรม
แต่ในสังคมศรีธนญชัยแล้ว จะปราศจากความกล้าหาญเชิงจริยธรรมเป็นส่วนมากมีลักษณะของการเอาตัวรอด เช่นคำว่าพูดไปสองไพเบี้ยนิ่งเสียตำลึงทอง, รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี, รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง, หรือเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม และในสังคมแบบอำนาจนิยมที่อยู่ในฐานะต่ำกว่าก็จะมีลักษณะเช่น เป็นผู้น้อยคอยก้มประณมกร เติบใหญ่จะได้ดี, เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด ฯลฯ ในสังคมของคนใส่หน้ากากกันก็มักจะมีค่านิยม “ปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ”, ต่อหน้ามะพลับ หลับหลังตะโก และในสังคมอุปถัมภ์ที่คนหวังเจริญหน้าในทางราชการก็มักเป็น “ลินเตีย สินสอพลอ ล่อไข่แดง แรงวิชา ถลามาเอง หรือลิ้นกระดาษทราย น้ำลายชะแล็ค และในสังคมของคนเห็นแก่ตัวก็มักเป็น “ตัวใครตัวมัน “ หรือ “บ้านใครอยู่ อู่ใครนอน” ในสังคมของคนคอรัปชั่นก็มักพูดว่า “คอรัปชั่นเรื่องธรรมดา ที่ใหน ๆ ก็ทำกัน” หรือคำว่า “เลี้ยงช้างกินขี้ช้าง”
ในสังคมของเผด็จการก็มักจะพูดว่า “เรื่องการเมืองเป็นเรื่องของนักการเมืองประชาชนไม่เกี่ยว” หรือ นักการเมืองเลวทุกคน (ความดีของมนุษย์สิ้นสุดลงเมื่อเข้าสู่สนามการเมือง) เป็นการมองการเมืองในแง่ร้าย ซึ่งจริง ๆ แล้วนักการเมืองที่ดีก็มีถมไปแต่นักเผด็จการจะเหมาทั้งหมด และบอกว่าตัวเองดีกว่านักการเมือง แต่จริง ๆ แล้วผู้ไม่ได้ทำหน้าที่ทางการเมืองก็เล่นการเมืองนอกระบบได้เช่นกัน นักประชาธิปไตยจะมองโลก และสิ่งแวดล้อมในทางที่ดี ส่วนนักเผด็จการไม่ไว้วางใจเพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อม จึงทำให้เขาติดยึดอำนาจ และหลงอำนาจเป็นส่วนใหญ่ และบางครั้งก็ใช้ความรุนแรงกับคนอื่นซึ่งอันที่แท้จริงมีความกลัวในจิตใจ จึงต้องใช้กำลังกับผู้อื่น แต่เมื่อเกิดสำนึกแล้วก็จะรู้สึกว่าไม่สมควรทำไป และมาสำนึกบาปที่หลัง
“สังคมดีไม่เคยได้มาปล่าว ๆ โดยไม่ลงทุน สังคมดีเกิดจากความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นสังคมอุดมคติเพื่อมวลมนุษยชาติ เข้าทำนองเดียวกับคำว่า “ประชาธิปไตยจักสมปองต้องต่อสู้” นั่นเอง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น