ข้อเสนอแนะแนวทางเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (Educational Reform Solutions)

             ปัจจุบันการศึกษาของไทยมีลักษณะที่มีลักษณะเดินถอยหลัง หรือคุณภาพทางการศึกษาโดยรวมลดลงไปอย่างมาก  ทุกระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา,มัธยมศึกษา, และอุดมศึกษาซึ่งพอจะประมวลสาเหตุของปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหาของระบบการศึกษา มีดังนี้
             1. ในด้านการบริหารงานการศึกษา  ซึ่งมีลักษณะการทำงานขาดความคล่องตัวอันเนื่องจากการมีสายการบังคับบัญชาที่ทอดยาวมากเกินไป (Vertical Hierarchy)  และการรวมศูนย์อำนาจที่ผู้บริหารองค์การมีอำนาจมากเกินไป ถึงขั้นผูกขาดอำนาจ และไม่สามารถที่จะทำให้เกิดความคล่องตัวในเชิงการรับฟัง หรือการมีส่วนร่วมค่อนข้างต่ำ ทำให้เกิดปัญหาดังนี้
             ก. การสร้างอาณาจักรของผู้บริหารการศึกษา ซึ่งหมายความว่ามีการผูกขาดอำนาจในการบริหาร  ผู้บริหารขาดการหมุนเวียน การแต่งตั้งนิยมตั้งพวกพ้อง หรือพรรคพวกมากเกินไป จึงทำให้วิสัยทัศน์ในทุกระดับบริหารคับแคบ แม้ว่าจะไปดูงานมามากสักเพียงใด ก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษา  ซึ่งอันที่จริงการดูงานควรใช้ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนา  แต่หลายองค์กรในระดับอุดมศึกษามักไปดูงานเป็นประจำ  เมื่อกลับมาดูงานแล้วก็ไม่เห็นมีการพัฒนาเชิงเนื้อหาคุณภาพทางการศึกษาประการใด ส่วนใหญ่เป็นการสร้างทันสมัย เช่นตึกต่าง ๆ ซึ่งก็ไม่ได้ใช้เต็มที่ ควรมีการดูอัตราการใช้ตึกก่อสร้างต่าง ๆ ว่าใช้คุ้มค่าหรือไม่  เพราะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างมาก
            ข. การซื้อขายตำแหน่ง รวมทั้งการฝากเด็กเข้าเรียนตั้งแต่ระดับประถม,มัธยม จนถึงระดับมหาวิทยาลัย  ซึ่งการสอบบางครั้งจะสอบสองรอบ  รอบแรกคัดเด็กจริง รอบสองคัดเด็กฝาก ทำให้เด็กนักเรียน,นักศึกษาไม่ใช่คนเก่ง และทำชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัย  ด้วยแรงจูงใจของอำนาจเงินจึงทำให้ผู้บริหารสนใจแต่ผลประโยชน์เข้าหาตนเอง จนไม่มีเวลาไปคิดพัฒนา  เท่าที่ทำคือขายผ้าเอาหน้ารอดกันเป็นส่วนใหญ่  เว้นแต่มหาวิทยาลัยที่รักษาชื่อเสียงซึ่งอาจจะมีเพียงไม่กี่มหาวิทยาลัย
            ค. การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการครูส่วนใหญ่ก็ใช้ระบบอุปถัมภ์ ทำให้ครูที่บรรจุกลายเป็นเครื่องมือของผู้บริหาร ในการพิทักษ์ตนเอง  โดยใช้บุญคุณเป็นตัวแลกเปลี่ยน  ทำให้ครูที่บรรจุมานั้นกลายเป็นครูที่ขาดอุดมการณ์  เพราะมัวแต่เอาใจผู้บริหาร  และใครวิจารณ์ก็จะโกรธแทน และกลายเป็นองครักษ์พิทักษ์นายโดยปริยาย
            ง.การจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส และเป็นธรรม เพราะมีระบบผูกขาดในการเหมางาน เนื่องจากผู้บริหารได้รับประโยชน์จากค่าคอมมิชชั่น เช่นการสร้างตึก, การจัดซื้ออุปกรณ์ซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นต้องซื้อบ่อย ๆ หรือการซื้อเก้าอี้โต๊ะคุณภาพต่ำ ต้องเปลี่ยนบ่อยครั้ง
            จ. ระบบบริหารมหาวิทยาลัย ก่อให้เกิดการล๊อบบี้เพื่อแลกผลประโยชน์จนไม่ได้ตั้งใจดูแลคุณภาพ  เพียงแต่ทำตามรูปแบบเท่านั้น เช่นการทำ TRF นั้นเป็นเพียงรูปแบบไม่สะท้อนคุณภาพ ทำให้ใครจะเขียนให้ดีอย่างไรก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทราบได้ว่าได้สอนดีตามมาตรฐานหรือไม่?
            ฉ.เกิดระบบสืบทอดทายาทการบริหารที่พยายามใช่พรรคพวกตนเอง เข้าดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งอันนี้หากเป็นทายาทที่ดีก็พอรับได้ แต่หากเป็นคนไม่ดีแล้ว จะเป็นผลเสียต่อระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก    การจัดให้มีระบบเหมือน กพ.ที่มีการสอบบรรจุเพื่อแต่งตั้งบุคคลเป็นผู้บริหารจะดีกว่าระบบสรรหา เพราะระบบสรรหาเปิดช่องทางให้เิกิดการล๊อบบี้กันได้อย่างสบาย  ทำให้ผู้บริหารก็พยายามล๊อบบี้เพื่อให้ลูกน้องของตนเองได้ดำรงตำแหน่ง ทำให้การบริหารงานขาดความเป็นมืออาชีพ  เมื่อมีสอบทฤษฎีแล้วจึงมาสอบวิสัยทัศน์อีกครั้งหนึ่ง ก็จทำให้คนตื่นตัวในการศึกษาหลักการบริหารมหาวิทยาลัย หรืออาชีวศึกษา เพื่อเป็นข้าราชการมืออาชีพได้  ก็ยังดีกว่าระบบที่เป็นอยู่ ซึ่งจะบรรจุคนเหมาะสม ซึ่งพบว่าหลายครั้งขาดความเหมาะสม เพราะเปิดช่องทางระบบอุปถัมภ์เข้าไปชอนใชระบบได้
            ช. การที่ผู้บริหารมีผลประโยชน์ในการจัดหลักสูตรมากเกินไป เช่นเป็นประธานกรรมการหลายหลักสูตร, หรือเป็นผู้ดูแลหลักสูตรมากโดยเฉพาะตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง  ทำให้ผู้บริหารเข้าไปล้วงลูก และมีผลประโยชน์ทางการศึกษามากเกินไปมากกว่าเงินเดือน  นอกจากนั้นยังมีการตอบแทนจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยในการกำหนดเงินเดือนสูงให้แก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมากมาย ในขณะที่ครูอาจารย์ต้องสอนหนังสือกันหลังขดหลังแข็ง เงินเดือนก็น้อย
            ซ. การจัดเก็บเงินผลประโยชน์มหาวิทยาลัยเป็นที่มาของรายได้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่ได้ผลประโยชน์จากการแบ่งกำไร เช่นหอพัก, ซุ้มอาหาร, ห้องอาหารมหาวิทยาลัย, น้ำดื่มจากภายนอก ทำให้มหาวิทยาลัยไม่ใช่แหล่งที่จะพัฒนาวิชาการอย่างจริงจัง แต่กลายเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์มากกว่า ทำให้คุณภาพโดยรวมเสียหาย
            ฌ. จากการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษา,มัธยมศึกษา, จนกระทั่งระดับอุดมศึกษา เมื่อมีการเน้นผลประโยชน์กันมากจนลืมคุณภาพทางการศึกษาแล้ว   ก็จะกระทำต่อผลงานรัฐบาล, ต่อกระทรวงศึกษาธิการโดยรวม  เพราะมัวแต่ให้ครูอาจารย์ทำงานประเภทเอกสารกันมากเกินไป แทนที่จะสนับสนุนการพัฒนาวิชาการ หรือการค้นคว้าความรู้ หรือเทคนิคการสอน รวมทั้งการสอนด้านคุณธรรม หรือระเบียบวินัย มิใช่มีแต่เรื่องการดูแลทรงผม แต่หมายถึงวินัยในการเข้าเรียน, วินัยในการตั้งใจเีรียน วินัยในการตั้งคำถามกับครูอาจารย์ โดยผู้สอนไม่โกรธ, ซึงตรงนี้หายไปมากทีเดียว
             สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาโดยสังเขปดังนี้
            ก. กระจายอำนาจในทุกระดับการศึกษา ควรมีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลย์ตลอด แม้กระทั่งการมีสภาคณาจารย์และข้าราชการ ก็มีการแทรกแซงในการที่ผู้บริหารนำคนของตนเองเข้าไปอยู่ที่สภา และให้พยายามเลือกสรรเป็นประธานสภาคณาจารย์ก็มี
            ข. สร้างแรงจูงใจในผลตอบแทน และสร้างเวทีแห่งโอกาสของครูอาจารย์ให้มีส่วนร่วม หรือมีบทบาทให้มากกว่านี้  ทุกวันนี้ครูอาจารย์กลายเป็นคนที่ต่ำต้อยด้อยค่า เพราะเกรงกลัวต่อการบริหารมหาวิทยาลัย   การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง หรือการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งควรมีระบบคุณธรรม หากใช้ระบบนี้  เชื่อว่ากระทรวงศึกษาธิการจะได้รับชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ และในเวลาไม่กี่ปีก็จะทำให้คุณภาพการศึกษายกระดับในทุกระดับ  ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนมาก  ควรขจัดปัญหาเด็กใคร เส้นใคร ฯลฯ มาทำลายระบบการศึกษา
            ค. การเปิดโอกาสให้ใช้บุคคลภายนอก มาสอนพิเศษ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้โลกที่กว้างขวาง โดยพิจารณาจากภาระงาน เพราะบางคนสอนมาก แต่คุณภาพการสอนไม่ดี หรือเอาครูอาจารย์วุฒิไม่ตรง หรือสถาบันไม่เป็นที่ยอมรับมาสอน ทำให้คุณภาพของบัณฑิตลดลงไปอย่างเห็นเด่นชัด  น่าจะมีสถาบันการวัดสมรรถนะของครูอาจารย์   โดยใช้เกณฑ์คือครูอาจารย์ประจำ 70% และอาจารย์พิเศษ 30 %   เพราะมีการกีดกันครูอาจารย์ดี ๆ ไม่ได้ทำการสอน และมีการบรรจุครูที่เป็นพวกพ้อง และอาจไม่มีความสามารถในการสอน ทำให้แรงจูงใจของบุคลากรต่ำลง
           ง. ให้รางวัลกับบุคคลที่ใช้เงินฝากเด็ก ที่รู้เบาะแส หรือรางวัลกับแก่ผู้ที่ชี้เบาะแสว่ามีการทุจริตในการรับเงินฝากเด็ก  ก็จะช่วยลดอัตราได้มากทีเดียว
           จ. ต้องมีคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาแบบเร่งด่วนระยะสั้น, ระยะปานกลาง และระยาว เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาทั้งระบบ เพื่อคุณภาพทางการศึกษา และเปิดโอกาสให้คนดีมีความสามารถเข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร และป้องกันมิให้ผู้บริหารที่มุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาใช้โอกาสตักตวงได้


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ระบบการเมืองที่ดีเหมือนปลาในอ่างแก้วที่มองเห็นตัวปลาชัดเจน

108 คำคมขงเบ้ง คำคมสอนใจ จากขงเบ้ง

ตัวแบบงบประมาณผูกพัน (Beyond Budgeting) ตอนที่หนึ่ง