ข้อเสนอให้มีคณะกรรมการพัฒนาองค์การมหาวิทยาลัย

               เพื่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างเป็นระบบ และนำไปสู่การสร้างประสิทธิภาพ และคุณภาพของมหาวิทยาลัยเพื่อขจัดปัญหาความไม่โปร่งใส หรือการทำงานที่ขาดการสร้างสรรค์สิ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือชุมชน ควรจัดให้มีหน่วยงานพัฒนาองค์กรในทุกมหาวิทยาลัย (University of Educational Organization Development) เพื่อให้เกิดความสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์การบริหารมหาวิทยาลัย โดยมุ่งผลต่อคุณภาพของนักศึกษา และมาตรฐานของสังคม องค์กรนี้ควรจัดทำในรูปของสภาพัฒนาองค์กรมหาวิทยาลัย ซึ่งมาจากคณะกรรมการพัฒนาองค์กรซึ่งประจำอยู่ตามมหาวิทยาลัย หรือคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน   ซึ่งหน่วยงานนี้อาจประกอบด้วยบุคลากรที่เป็นโครงสร้างในทุกมหาวิทยาลัย หรือทุกหน่วยงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน และขึ้นตรงกับส่วนกลางที่เรียกว่าหน่วยงานพัฒนาองค์การทางการศึกษาซึ่งทำหน้าที่รายงานผล หรือการวิจัยเชิงปฏิบัติการและนำเสนอโดยผ่านสภาการพัฒนาองค์การทางการศึกษาทั่วประเทศ  ซึ่งสาเหตุที่ควรทำนั้นเกิดจาก
              ก. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และคุณภาพทางการศึกษาในลักษณะที่สร้างสรรค์ และให้มหาวิทยาลัยหรือระดับประถมศึกษา,มัธยมศึกษา มีการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับโลกาภิวัฒน์และส่งเสริมให้เกิดคุณภาพทางการศึกษาโดยรวม  เนื่องจากเครื่องมือของรัฐที่ปฏิบัติจัดทำในขณะนี้ยังไม่สามารถส่งผลต่อการปฏิับัติงานที่ก่อให้เกิดผลคุณภาพทางการศึกษาอย่างแท้จริง  จำเป็นต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา หรือหาแนวทางการพัฒนาโดยนักพัฒนาองค์กรอาชีพ ซึ่งจะเป็นบุคคลที่ทำหน้าที่วิเคราะห์,วิจัย, รายงานผลต่อเจ้ากระทรวงศึกษาธิการ โดยมีหน่วยงานกลางรองรับที่กระทรวงศึกษาธิการ  โดยอาจทำในรูปการจ้างเหมางานบริการ (Outsourcing) และสามารถยกเลิกสัญญาหรือการต่อสัญญาได้ภายใต้การจ้างเหมางานนักวิชาการในด้านนี้  หากปฏิบัติงานไร้ประสิทธิภาพในการเสนอแนะหรือให้คำปรึกษาก็สามารถจัดหาบุคลากรใหม่ได้  สำหรับตำแหน่งงานจะมีการประเมินผลทุก 3 ปี ซึ่งคล้ายคลึงกับพนักงานมหาวิทยาลัย   ซึ่งผู้ประเมินผลก็คือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาองค์การมหาวิทยาลัยโดยขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
             ข.เพื่อให้การวางแผนการเปลี่ยนแปลง (planned change) ซึ่งเป็นความต้องการหรือนโยบ่ายของกระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้กำหนดนโยบาย (Policy Making) โดยตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ   ดังนั้นบุคคลที่เป็นนักพัฒนาองค์การควรเป็นผู้ผ่านประสบการณ์ในการเป็นนักวางแผน หรือที่ปรึกษาจากองค์กรต่าง ๆ หรือเป็นผู้ชำนาญการ  ซึ่งตำแหน่งก็จะมีนักพัฒนาองค์กรในระดับชำนาญการ กับระดับผู้เชี่ยวชาญระดับสูง  ควรมีคุณสมบัติที่เป็นผู้มองภาพใหญ่หรือภาพรวมได้เก่ง และมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล และสามารถหยั่งรู้จนถึงขั้นปฏิบัิติให้สำเร็จได้  ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ กพ.เป็นผู้กำหนดสมรรถนะบุคคลากรในระดับนี้ การทำหน้าที่ของนักพัฒนาองค์กร ประดุจหนึ่งเป็นที่ปรึกษามืออาชีพ ซึ่งอาจจะใช้ผสมผสานกับทึ่ปรึกษาพัฒนาองค์กรภาคเอกชนก็ได้
            ค. เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับภายใต้สายบังคับบัญชาของระบบมหาวิทยาลัย มีลักษณะเป็นอิสระ แต่สายงานอาชีพมาจากความสำเร็จมาตามลำดับชั้น โดยวัดผลจากองค์กรแต่ละแห่งที่นักพัฒนาองค์กรได้เข้าไปทำงาน สามารถปรับปรุงผลงานได้ตามมาตรฐาน หรือองค์การได้มีการพัฒนาได้ก้าวไกล การเป็นองค์การที่มีผลงานเป็นเลิศ  สามารถนำเสนอปรับตำแหน่งผู้บริหารแต่ละแห่งได้จากการพิจารณาผลงานของแต่ละมหาวิทยาลัย  ซึ่งดีกว่ารูปแบบสภามหาวิทยาลัยที่มีการล๊อบบี้ตำแหน่งได้ และเป็นระบบที่ไม่สามารถจะพัฒนามหาวิทยาลัยได้ดีกว่า การมีนักพัฒนาองค์การที่ถูกสร้างให้เป็นมืออาชีพ
            ง. เพื่อให้มีการทำการวิจัยมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเป็นประจำทุกปี โดยมีเจ้าหน้าที่วิจัยในแต่ละองค์กรประมาณ 5-10 คนในลักษณะที่ออกแบบงานวิจัยโดยที่ปรึกษาพัฒนาองค์การ เพื่อเก็บข้อมูลและสำรวจเพื่อหาแนวทางในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยในระดับสากลโดยใช้กลยุทธ์เปรียบเทียบ(Benchmark Strategy)เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practice) ในอนาคตและสามารถนำเสนอแก่สภาพัฒนาองค์กรเพื่อนำไปปรับแก้ไข และนำเสนอต่อ สกอ. เพื่อปรับทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องต้องกันระหว่างมหาวิทยาลัย หรือการกำหนดงานวิจัยเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้แก่สังคมประเทศ
             จ. เพื่อลดปัญหาการเล่นพรรคเล่นพวก โดยพยายามนำระบบคุณธรรมเข้ามาแทนที่ระบบที่ถูกบ่อนทำลายระบบคุณธรรม  เช่นการซื้อตำแหน่ง, การทุจริตคอรัปชั่น, การประเมินผลงานที่ไม่เป็นธรรม, การเลือกปฏิบัติในการทำงาน, การใช้สองมาตรฐาน ฯลฯ  และการป้องกันมิให้ผู้บริหารสร้างอาณาจักรที่มีอำนาจมากเกินไป เพราะปัจจุบันการปล่อยให้มหาวิทยาลัยดำเนินเสรีจนเกินขอบเขต ทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นแหล่งของการแสวงหาผลประโยชน์ มากกว่าจะคำนึงถึงความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยที่ทัดเทียมกับต่างประเทศ หรือเหนือกว่าประเทศในแถบอาเชียน ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน
             ฉ. สภานักพัฒนาองค์กร จะเป็นผู้รายงานสรุป ในแต่ละมหาวิทยาลัยที่ควรดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นมหาวิทยาลัยที่ดี และเป็นตัวอย่างของสังคม ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม และคุณภาพทางการศึกษา และบรรยากาศทางการศึกษาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญแก่ผู้เรียน  มหาวิทยาลัยควรมีอิสระทางวิชาการ, เน้นความเป็นเลิศ, สร้างความก้าวหน้าในอาชีพอย่างเสมอภาค, ไม่มีการกีดกันคนมีฝีมือดีเข้ารับราชการ   และการกลั่นแกล้งบุคลากรต่าง ๆ  และไม่ควรนำเอาบุคลากรระดับธุรการมาเป็นอาจารย์เพราะอาจกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารในการแทรกแซงงานในองค์การได้  จึงควรมีการสอบวัดผลบุคคลที่เหมาะสมเป็นครู หรืออาจารย์จากองค์การภายนอก
              สรุป แนวคิดในการพัฒนาองค์กร เพื่อประยุกต์ใช้ในมหาวิทยาลัยเป็นเพียงข้อเสนอแนะที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับผิดชอบในแวดวงการศึกษา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา แต่สามารถนำไปปรับปรุงเพิ่มเติม หรือหาทางเลือกเพิ่มเติมในการนำทัศนะดังกล่าวไปใช้ประยุกต์จริง เพื่อให้การศึกษาไทยก้าวไกลทันโลก
           

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ระบบการเมืองที่ดีเหมือนปลาในอ่างแก้วที่มองเห็นตัวปลาชัดเจน

ตัวแบบจำลองภารกิจของแอสริช (Ashridge Mission Model)

การปฏิรูปการศึกษาในต่างประเทศ