"ตัวชี้วัด 7 ประการขององค์การที่เป็นเลิศ เมื่อเปรียบเทียบกับองค์การการเมืองไทย

            ปัจจุบันนี้ผู้บริหารมีความเชื่อว่าการมีบุคลากรที่มีความสุข,มีความผูกพัน,และมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น และมีวัฒนธรรมองค์การในเชิงบวก เป็นปัจจัยสำคัญในการวัดความมีประสิทธิผลขององค์การ   ซึ่งจากผลงานของริชาร์ด แอล.ดาฟท์ กล่าวไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า "ทฤษฎีและการออกแบบองค์การ" ได้กล่าวถึงตัวชี้วัด 7 ประการขององค์การที่ดีซึ่งสามารถเห็นได้จากแนวคิดกระบวนการภายใน (internal process approach) ดังนี้คือ
            1. มีวัฒนธรรมองค์การที่เข้มแข็ง และบรรยากาศในการทำงานในเชิงบวก
            2. มีสปิริตในการทำงานเป็นทีมค่อนข้างสูง,จงรักภักดีในการทำงานเป็นกลุ่ม,และทีมงาน
            3. มีความเชื่อมั่น,เชื่อถือไว้วางใจ,และการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคลากรกับฝ่ายจัดการ
            4. การตัดสินใจใกล้เคียงกับแหล่งของข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นแหล่งข้อมูลในโครงสร้างขององค์การ
            5. มีการติดต่อสื่อสารไม่บิดเบือนทั้งในแนวนอนและแนวดิ่ง มีการแบ่งปันข้อเท็จจริงและความรู้สึกที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกัน
            6. รางวัลที่ดีสำหรับผู้จัดการคือผลงาน, ความเติบโตและพัฒนาของคนงานและการเสริมสร้างการทำงานเป็นกลุ่มได้ดี
            7. มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์การกับส่วนงานของเขา ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโครงการใด ๆก็นำไปสู่การแก้ปัญหาเพื่อผลประโยชน์ขององค์การ

           จากแนวคิดของริชาร์ด แอล.ดาฟท์ เมื่อมาเปรียบเทียบกับองค์การทางการเมืองจากแนวคิด 7 ประการพบว่ายังประสบปัญหาไม่สามารถทำให้องค์การทางการเมืองมีประสิทธิผลได้ดีอันเนื่องจาก
           1. องค์การทางการเมืองมีวัฒนธรรมทางการเมืองเข้มแข็งเฉพาะพรรคของตนเอง แต่ไม่สามารถหลอมรวมความแตกต่างทางวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างพรรคการเมืองที่ต่้างกันได้ และยังขาดความเข้าใจบทบาทที่ถูกต้องในการทำหน้าที่ หรือรับผิดชอบ ซึ่งบางพรรคการเมืองมีความรับผิดชอบดี บางพรรคการเมืองขาดความรับผิดชอบต่อการช่วยกันเสริมสร้างวัฒนธรรมความแตกต่างหลายให้้มีความเข้มแข็ง แต่มีลักษณะพวกใครพวกมัน ขาดความสมานฉันท์ปรองดอง เพราะความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องผลประโยชน์และอำนาจจนลืมความก้าวหน้าของประเทศชาติ
           2. สปิริตการทำงานเป็นทีม และความจงรักภักดีในการทำงานเป็นกลุ่มและทีมงานยังมีลักษณะหลวม ๆ ขาดความผูกพันหรือการประสานงานกันอย่างดีเพื่อส่วนรวม แต่เป็นลักษณะการช่วงชิงหรือแย่งอำนาจกันมากกว่าจะร่วมมือ และรู้จักบทบาท และความรับผิดชอบต่อสังคมประเทศชาติ  ฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลมีลักษณะแตกแยก มิใช่ลักษณะของการตรวจสอบเพื่อให้การบริหารประเทศชาติดี แต่มีลักษณะการหักล้าง,การโจมตี,การสร้างขาวลือ,การใส่ร้ายป้ายสี  แต่มิใช่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง
           3. นักการเมืองบางพรรคยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับประชาชน หรือความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ จนบางครั้งเลยเถิดไปถึงการดูถูกดูแคลน หรือแบ่งแยกหรือแม้กระทั่งโจมตีประชาชนว่าเป็นคนโง่ไม่ฉลาด หรือถูกครอบงำ ซึ่งเป็นการดูถูกประชาชนในประเทศเดียวกัน ขาดความเชืือถือไว้วางใจ แต่เป็นลักษณะหวาดระแวงแคลงใจกัน  ทำให้มองภาพลบต่อกัน ซึ่งหลักพระพุทธเจ้าเน้นสามัคคีธรรม คือการทำความเห็นให้พ้องต่อคนหมู่มาก ไม่ใช่การขัดแย้งอย่างแบ่งแยกหรือมุ่งทำลาย แต่เป็นการหาทางเลือกที่ดี,ที่เจริญ และที่พัฒนาต่อประชาชน และความกินดีอยู่ดีของประชาชน
           4. บางพรรคการเมืองตัดสินใจภายใต้ข้อมูลที่เป็นจริง บางพรรคการเมืองตัดสินใจภายใต้การครอบงำประชาชน ไม่พูดความจริง หรือปฏิบัติตนที่ีฝืนความจริงหรือฝืนกระแสของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ กลายเป็นนักเผด็จการไปโดยไม่รู้ตัว
           5. การสื่้อสารมีลักษณะบางฝ่ายพยายามพูดความจริง แต่บางฝ่ายไม่ยอมรับหลักการและความจริง  มีการปล่อยข้่าวลือ,สร้างสถานการณ์ และกระทำเพื่อมุ่งแสวงหาอำนาจทั้ง ๆ ที่วิธีการแม้จะสกปรกก็ตาม
           6. ผลงานประเทศชาติเกิดสะดุด เพราะมีการปัดแข้งปัดขา, การหาเหตุโจมตีเพราะมัวแต่จับผิดและหาทางลงโทษทางกฎหมาย จนทำให้รัฐบาลมีเวลาบริหารประเทศน้อย ไม่สามารถสร้างประโยชน์หรือความสำเร็จแก่ประชาชนได้เต็มที่  การบริหารเป็นไปด้วยความยุ่งยาก, ตกอยู่ภายใต้วิกฤติต้องคอยหวาดระแวง หรือความหวาดกลัว เพราะขาดความรักซึ่งกันอันเนื่องจากขาดหิริโอตัปปะ ความละอายต่อบาป มองคนคิดต่างเป็นศัตรูไปหมด แทนที่จะเข้ากันได้ภายใต้ความแตกต่างหลากหลาย จนเกิดปัญหาความขัดแยังของคนในชาติ   และบางครั้งเป็นการทำลายภาพพจน์นักการเมือง และทำลายระบบรัฐสภา และทำลายความเป็นประชาธิปไตยของประชาชนในท้ายที่สุด
           7. ความขัดแย้งทางการเมืองมุ่งประหัดประหารกัน หรือหักลำโค่นกันมากกว่าเป็นความขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์ หรือติเพื่อก่อ ทำให้กระบวนการพัฒนาการเมืองขององค์การทางเมืองเกิดความเสื่อมและมิเป็นที่น่าเชือถือ และเป็นกับดักนำไปสู่ลัทธิเผด็จการรวมศูนย์อำนาจแบบคณาธิปไตย หรืออนาธิปไตยได้
              สรุป จากบทเรียนพบว่าองค์การการเมืองมีลักษณะของความเสื่อมในระบบการเมืองบางพรรค,บางกลุ่ม หรือผู้ทื่ยังมีมิจฉาทิฎฐิทางการเมือง ควรจะหันหน้าปรองดองสร้างความสามัคคีกันเพื่อประชาชนในชาติได้รับโอกาสที่ดี  โดยไม่มุ่งมองถึงตนเองมากเกินไปกว่าผลประโยชน์ของชาติและประชาชนคนไทย
          

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ระบบการเมืองที่ดีเหมือนปลาในอ่างแก้วที่มองเห็นตัวปลาชัดเจน

การปฏิรูปการศึกษาในต่างประเทศ

ตัวแบบจำลองภารกิจของแอสริช (Ashridge Mission Model)