ทำไมการเปลี่ยนแปลงการปกครองประชาธิปไตยในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จึงไม่บรรลุผลถึงยุคปัจจุบัน

              ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมาซึ่งถือว่าเป็นยุคเบิกโรงประชาธิปไตยซึ่งเราจะพบว่าในการเปลี่ยนแปลงที่มีผู้นำชื่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับพลเอกพระยาพหลพยุหเสนา ได้วางรากฐานประชาธิปไตยสำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย  แต่การณ์ปรากฎว่าแม้จะได้มีการวางต้นกล้าประชาธิปไตยมาเป็นเวลานานแล้ว แต่กลับถูกบิดเบือน และถูกบั่นทอนต้นกล้าประชาธิปไตยที่ปลูกไว้เมื่อ 80 ปีที่ผ่านมา   ซึ่งแสดงให้เห็นว่าต้นไม้ประชาธิปไตยนั้นถูกบั่นทอน และถูกโค่นทิ้ง กลายเป็นระบบเก่าที่สถาปนามาเป็นเวลานานแล้ว    ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าชนชั้นนำไม่ปรารถนาให้ประชาธิปไตยที่แท้จริงกับประชาชน   และสะท้อนว่าประชาธิปไตยของไทยไม่พัฒนาอย่างยั่งยืนมีลักษณะเหมือนล้มลุกคลุกคลาน  และแต่ละยุคสมัยก็มีการออกแบบที่ครอบงำสังคมประชาธิปไตยมาตลอดในรูปของวัฒนธรรมทางการเมือง, ระบบการศึกษา,ระบบการเมือง, และระบบรัฐธรรมนุญที่่ดูประหนึ่งว่าจะมีประชาธิปไตยซึ่งเป็นเพียงรูปแบบเท่านั้น  แต่ในด้านเนื้อหาและพฤตินัยแล้วปรากฎว่ามีประชาชนจำนวนมากยังไม่เข้าใจ และให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยอย่างแท้จริง  ซึ่งเกิดจากการเพาะบ่มไปในทางครอบงำไปในลักษณะการปกครองในรูปแบบเก่า ๆ หรือในระบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งทำให้ประเทศไทยไม่ได้มีการพัฒนาไปอย่างก้าวไกล  ทั้งนี้ความเจริญรุ่งเรืองนั้นกลับเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่ไม่ต้องการเห็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า  แต่ต้องการให้อยู่ในระบบดั้งเดิมอย่างไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงตามสภาพโลกที่เปลี่ยนแปลงไป      ดังนั้นการสร้างประชาธิปไตยที่ไม่มีต้นกล้านั้นทำให้การเติบโตประชาธิปไตยนั้นขาดการสนับสนุน หรือขาดน้ำหล่อเลี้ยงประชาธิปไตยให้ต้นไม้นี้เจริญงอกงามขึ้นมาได้    ในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 80 ปีที่ผ่านมานั้น  ราษฎรในยุคนั้นยังไม่มีความเข้มแข็ง หรือความเข้าใจประชาธิปไตย   แต่ความเข้าใจนั้นกลับเป็นบุคคลที่มีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศ หรือได้ดุงานได้เห็นความทันสม้ยของประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย เช่นในยุโรปได้แก่ฝรั่งเศส, อังกฤษ,กรีก ฯลฯ   ซึ่งจะมีแต่ข้าราชการทหาร,ตำรวจ,พลเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางและยังมีจำนวนผู้คนในสังคมไม่มาก  และผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองล้วนแล้วแต่มีตำแหน่งและมีบทบาทสูง ได้พยายามปลูกฝังอุดมการณ์ประชาธิปไตยแก่ผู้ที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง    แต่ประชาชนในระดับรากหญ้าหรือระดับทั่วไปนั้นยังไม่ค่อยมีความเข้าใจ
            ในยุคกลางประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2500-2535 เป็นต้นมา จากภายใต้การรัฐประหารโดยฝ่ายทหารที่นิยมอำนาจนิยม หรือเผด็จการ  ทำให้ระบบสังคมทั้งระบบถูกครอบงำมาอย่างต่อเนื่อง ลักษณะประชาธิปไตยจึงมีสภาพง่อนแง่น  มีการเลือกตั้งสลับการรัฐประหารหลายครั้งด้วยกัน   แต่เหตุการณ์ที่เกิดต้นกล้าเกิดขึ้นนั้นคือในยุคความตื่นตัวของนิสิต,นักศึกษา,ประชาชนในเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งก็คือการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญจึงเกิดเหตุการณ์วันวิปโยค แต่เป็นความตื่นตัวของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศที่มีการเดินขบวนเรียกร้องทั่วประเทศอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน    แต่ขบวนการนักศึกษานั้นยังอยู่ภายใต้การสนับสนุนการเรียกร้องโดยฝ่ายชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมที่ใช้นิสิตนักศึกษาเป็นเครื่องมือในการล้มล้างอำนาจในยุคจอมพลถนอม และประพาส  แต่เมื่อนิสิตนักศึกษาเรียกร้องประสบความสำเร็จ  แต่ก็ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519  มีการสูญเสียชีวิตของนักศึกษา และประชาชนจากเหตุการณ์ต่อสู้เพื่่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย   ทำให้ประชาธิปไตยในยุคกลางก็ถูกโค่นล้มเป็นรอบสอง  ไม่สามารถยืนหยัดเป็นประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง  และทำให้ระบบการศึกษาถูกครอบงำ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยที่ระบบการศึกษาไม่ได้มีหลักสูตร,การศึกษาที่สะท้อนความเป็นจริง  การศึกษาปัจจุบันจึงมุ่งเน้นธุรกิจแบบทุนนิยมที่เน้นการแข่งดีแข่งเด่น หรือการชิงเด่นกัน ทำให้นักศึกษาไม่ได้ใกล้ชิดกับสภาพสังคมอย่างแท้จริงเหมือนกันกับยุคสมัย 14 ตุลาคม 2516 ที่ให้นักศึกษาได้เผยแพร่ประชาธิปไตย และเข้าไปสัมผัสประชาชนจากการเรียนรู้สภาพความเป็นอยู่หรือวิถีของชุมชนในชนบท หรือในท้องถิ่น ซึ่งในยุคนั้นบ้านเมืองยังไม่เจริญเหมือนในยุคปัจจุบัน  การตัดต้นไม้ประชาธิปไตยในรอบสอง ทำให้รากฐานประชาธิปไตยหายสาบสูญไปอย่างนาน และความตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยมีค่อนข้างน้อย เพราะมีการอบรมบ่มเพาะอย่างผิด ๆ เชนเชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องชั่วร้าย ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง   การเมืองจึงเป็นเรืองของคนมีอำนาจ หรือชนชั้นนำเท่านั้น  ซึ่งในความคิดนี้ทำให้ผู้นำทางการเมืองขาดการส่งเสริมความรู้อย่างแท้จริงในเรื่องประชาธิปไตย เพราะนักศึกษามุ่งถึงผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าที่จะสนใจส่วนรวม  และนักวิชาการในมหาวิทยาลัยก็อยู่้ในฐานะของการเป็นคนไต่เต้าความก้าวหน้าส่วนตัว เมื่อเกิดการตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตย ก็จะเป็นเรื่องงุนงงและสับสนต่อความเป็นไปทางการเมือง และไม่อยากนำตัวเองเข้าไปพัวพัวการเมือง เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีในสายตา หรือในการอบรมกล่อมเกลาทางสังคมแบบผิด ๆ  จึงทำให้ความตื่นตัวของนักศึกษามีน้อยลงมาก   ประกอบกับประเทศมีความเจริญทางวัตถุมากขึ้น 
            ในยุคปัจจุบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535-2555 ซึ่งเป็นยุคที่ช่วงปลายเมื่อปี พศ. 2540 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด มีการออกแบบมาดีเพราะมีประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด และเป็นรัฐธรรมนูญที่ีมาจากครรลองประชาธิปไตย  แต่ด้วยเหตุรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้นกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่จะสร้างกลไกประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าที่สุด จนนำมาสู่ระบบการเมืองแบบสองพรรค ซึ่งคล้าย ๆ กับประเทศที่พัฒนา    แต่เนื่องจากชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมมองว่าหากปล่อยให้มีรัฐธรรมนุญปี 2540 แล้ว ฝ่ายชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมจะไม่สามารถสร้างอำนาจได้   จึงคิดทำการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนุญ จนเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งฝ่ายอนุรักษ์นิยมเกรงว่าสังคมประชาธิปไตยจะก้าวหน้าและบดบังการปกครองแบบแนวอนุรักษ์นิยมและเกรงว่าจะสูญเสียอำนาจ   จึงทำการบั่นทอนรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง    นอกจากนี้ยังใช้แนวทางตุลาการภิวัฒน์มาทำการล้มล้างระบบพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ   ทำให้พรรคการเมืองแบบแนวอนุรักษ์ไม่สามารถต่อสู้ได้ ทั้งนี้ไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนทั้งประเทศอย่างเพียงพอ   ประกอบกับการมีรัฐบาลแนวอนุรักษ์นิยมไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น  ทำให้ประชาชนอยู่ในสภาพล้าหลัง,ยากจน ขาดสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค  จึงเกิดขบวนการประชาธิปไตยโดยกลุ่มประชาชนรากหญ้า (Grass-root democracy) ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์        จนทุกวันนี้ก็มีการยับยั้งต่อต้านการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนุญเพื่อประชาธิปไตยที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทย     จึงควรที่นักการเมืองควรเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  และหากเป็นความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนก็ไม่สมควรขัดขว้าง หรือต้านกระแสการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนี้
             สรุป  ประเทศไทยยังไม่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยมาเป็นเวลาเนิ่นนาน และสมควรที่ประเทศไทยถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่มิติประชาธิปไตย  ไม่เพียงแต่รูปแบบประชาธิปไตย แต่เป็นทั้งเนื้อหาสาระ, พฤติกรรม และจิตใจประชาธิปไตยที่แท้จริงซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่ประชาธิปไตยในอุดมคติแบบยูโทเปีย  แต่เป็นประชาธิปไตยที่คนส่วนใหญ่ยอมรับกันได้




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ระบบการเมืองที่ดีเหมือนปลาในอ่างแก้วที่มองเห็นตัวปลาชัดเจน

108 คำคมขงเบ้ง คำคมสอนใจ จากขงเบ้ง

ตัวแบบงบประมาณผูกพัน (Beyond Budgeting) ตอนที่หนึ่ง