ประชาธิปไตยพัฒนา (ฉบับปรับปรุงตามคำแนะนำของ peer review)
ประชาธิปไตยพัฒนา
Democratic
development
ทวิพันธ์ พัวสรรเสริญ*
Tawipan Puasansern
บทคัดย่อ
บทความวิชาการนี้เป็นการศึกษาประชาธิปไตยแบบไทย
ๆ ซึ่งผู้เขียนประสงค์จะชี้ให้เห็นถึงแนวทางในการพัฒนาประชาธิปไตยทั้งระดับชาติ, องค์การ,
การศึกษา จนกระทั่งการนำมาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อให้เกิดความเฉลียวฉลาดในการใช้ประชาธิปไตย
และการสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น
โดยศึกษาจากวิวัฒนาการชองการเปลี่ยนแปลงการปกครองประชาธิปไตยที่ยังไม่ล้มเหลวมาถึงปัจจุบัน
เพื่อพัฒนาจากระบบครอบครัว, ชุมชน
และสังคม ตลอดจนประเทศชาติเพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างความฉลาดในเรื่องประชาธิปไตยที่สะท้อนมุมมองของปัญหาที่เกิดขึ้น
นำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน
และเป็นการพัฒนาการเมืองอย่างสำคัญในการบรรลุถึงการมีสิทธิมีเสียง, เสรีภาพ
และความเสมอภาคทางสังคม อันเป็นพื้นฐานในการมีส่วนร่วมทางการเมือง
ตลอดจนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองทีดี และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
และมีภาพพจน์ที่ดีต่อนานาชาติ และนำไปสู่ประเทศที่มีอารยธรรม
ซึ่งบทความนี้เป็นการมองภาพกว้าง ๆ ในการให้ผู้อ่านได้นำไปศึกษาพัฒนาแนวคิดประชาธิปไตยพัฒนาจนนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอัจฉริยะในท้ายที่สุด
คำสำคัญ: ประชาธิปไตย, พัฒนา
Abstract
This article
concentrated on study about Thai Democracy that the writer need to focus for guiding
for democratic development under the nation, education through apply in diary
life for creating smart thinking in apply democracy and innovate democratic
mindset by studying on evolution in changing democracy in 1932 recover failed
democracy at the present. So that to
develop democracy in family, community, and society and the nation to be the
foundation of sustaining democracy and to create political development that reflect the point of view for the
problems and take into sustaining
democracy development and political development importantly by
achieved for the right, liberal ,equality that is the
basic for political participation and voicing to people that to enhance
political culture and benefit for the
country and the good image for the nation and at last to create intelligence Democracy
for Thailand.
*ผศ.ดร.ทวิพันธ์ พัวสรรเสริญ, อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
สาขาการจัดการภาครัฐและเอกชน, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
Assist.Prof. Dr.Tawipan Puasansen ,Suan Sunadha
Rajabhat University, Public and Private Department, Faculty
of Humanities and Social Science.
This
articles are the broad overview for the reader guide to consider for develop
democracy in the future.
Keywords: democracy,
development
บทนำ
เนื่องจากการปกครองแบบประชาธิปไตยของไทยเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มผู้ก่อการคณะราษฎร์ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 โดยพระองค์ทรงมีพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลว่าพระองค์ปรารถนาจะให้ประชาธิปไตยกับปวงชนชาวไทยอยู่แล้ว แต่ทว่าทรงเล็งเห็นว่าประชาชนไทยยังไม่พร้อมต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย เมื่อกลุ่มคณะราษฎร์ซึ่งมีกลุ่มจากข้าราชการทหาร, ตำรวจ,
และพลเรือนซึ่งได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของอนารยะประเทศต่างปรารถนาที่จะเจริญรอยตามแต่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังขาดการเรียนรู้แบบประชาธิปไตย
หรือการมีจิตสำนึกแบบประชาธิปไตย
ซึ่งหมายความว่าประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อม พระองค์จึงทรงมีพระสุนทรพจน์ตอนหนึ่งที่ว่า “ข้าพเจ้ามีความยินดีและเต็มใจที่จะมอบอำนาจของข้าพเจ้าที่มีอยู่แต่เดิมให้กับปวงชนชาวไทย แต่ข้าพเจ้าจะไม่ยินยอมสละอำนาจให้แก่กลุ่มบุคคลคณะหนึ่งคณะใดเป็นผู้ใช้อำนาจ โดยไม่ยอมรับฟังเสียงราษฎร”
จากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะราษฎร์ที่ปฏิวัติจากระบอบสมบูรนาญาสิทธิราชย์มาจนถึงจวบจนปัจจุบัน ใช้เวลามาเป็นเวลากว่า 87 ปีมาแล้ว จะพบว่าการปกครองประชาธิปไตยของไทยยังมีปัญหา
และยังไม่สามารถเดินตามวิถีทางประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืน จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการปฏิวัติรัฐประหารกันอยู่เสมอมา ฐานประชาธิปไตยยังเป็นที่คลอนแคลนและก่อให้เกิดเงื่อนไขการปฏิวัติรัฐประหาร ทั้งนี้ เป็นสิ่งที่คนไทยควรคิดว่าเป็นเพราะเหตุใด ประชาธิปไตยของไทยจึงไม่รุดก้าวไปข้างหน้าเสียที ? ทำไมจึงมีลักษณะเดินหน้าถอยหลังไม่เหมือนกับประเทศที่พัฒนา หรือประเทศอื่น
ๆ ที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยไปกันมากแล้ว ? ปัญหาของประชาธิปไตยเกิดจากตัวบุคคล
หรือเกิดจากระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นมา, หรือจากวัฒนธรรมค่านิยมที่ปลูกฝังกันผิดๆ ทำให้วิถีทางประชาธิปไตยจึงมีลักษณะล้มลุกคลุกคลาน ซึ่งก่อนที่จะเข้าถึงปัญหาหรือการแสวงหาแนวทางของประชาธิปไตยแบบทางเลือกที่ผู้เขียนเสนอต่อสังคม เพื่อให้สังคมมีการรับรู้และสร้างกติกาประชาธิปไตยอย่างมีจิตสำนึก และจิตวิญญาณประชาธิปไตย
บทความนี้ผู้เขียนจึงมีจุดประสงค์ในการแสวงหารูปแบบแนวความคิดที่นำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยเพื่อให้สังคมยกระดับไปสู่สังคมภาคพลเมือง
(Citizenship) นอกจากนี้ไม่เพียงแต่เข้าใจประชาธิปไตยแต่เพียงแค่เปลือกกระพี้เท่านั้น ประชาชนคนไทยควรเข้าถึงแก่นแท้ของประชาธิปไตย
เพราะว่าประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงรูปแบบที่มีรัฐสภา สส. สว, หรือเป็นเพียงมีรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้น นั่นก็คือจิตสำนึกหรือจิตวิญญาณประชาธิปไตย ซึ่งจะพบว่ารัฐบาลไม่ค่อยส่งเสริมหรือปลูกฝังกันในเรื่องนี้ เราจะพบว่าไม่มีการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยในห้องเรียน, ไม่มีหลักสูตรที่สอนกันอย่างจริงจังอย่างเป็นระบบในการสอนถ่ายทอดจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ ทั้งนี้ เพราะว่าวิถีทางประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน
และเป็นสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมของตะวันตกซึ่งประเทศไทยได้นำเข้าทางความคิดหรือลอกเลียนแบบมาจากตะวันตก
โดยเข้าใจว่าประชาธิปไตยได้แก่การมีรัฐสภา, การมีสภาผู้เทนราษฎร,
การมีการเลือกตั้ง, การลงคะแนนเสียง, การมีพรรคการเมือง ฯลฯ ซึ่งที่แท้จริงแล้วเป็นประชาธิปไตยแค่รูปแบบเท่านั้น แต่ควรเป็นประชาธิปไตยในเชิงเนื้อหาด้วย
เช่นการมีอุดมการณ์และจิตสำนึกประชาธิปไตย, การมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบพลเมือง
(Citizenship) , การรู้จักรักษาสิทธิและหน้าที่, การรู้จักความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกระดับ, การวิพากษ์วิจารณ์ในทางสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมืองโดยมิเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน, การเคารพสิทธิและกติกาของบ้านเมือง, การรักษามติของเสียงส่วนใหญ่
และพิทักษ์เสียงส่วนน้อย (Majority Rule, Minority Right) , การพัฒนาสถาบันการเมือง และวิถีชุมชนแบบประชาธิปไตย การที่เสาประชาธิปไตยถูกรื้อถอน และถูกสั่นคลอนนั้นเกิดจากการไม่เข้าใจ
หรือรู้ลึกซึ้งพอในการดำรงวิถีทางประชาธิปไตยได้ ดังนั้น
สำคัญที่ประชาธิปไตยจะยืนยงอยู่ได้คือประชาชนต้องมีทัศนะว่าประชาธิปไตยเปรียบเสมือนเสาหลัก หากโค่นลงมาบ้านก็จะทรุด หรือเอียงกระเทเร่ได้ จะต้องพยายามขวนขวายให้เสาหลักมีความมั่นคง
และช่วยกันประคับประคองไม่ว่ากลุ่มบุคคลใด, อาชีพใด, ต้องมีลักษณะหวงแหนมิให้ใครย่ำยีได้
เป็นความมั่นคงทางด้านสังคมประชาธิปไตย มิใช่ประชาธิปไตยแบบต้นกล้วยที่เลี้ยงไว้ไม่กี่ปีก็ต้องถูกโค่นและกินดอกผลจากผู้สร้างมาก่อน แต่เราจะพบว่าคนไทยส่วนใหญ่มีความเข้าใจน้อยมาก และไม่สามารถเข้าใจในการรู้รักษาประชาธิปไตยที่คนไทยหวงแหนได้ จึงอาจเป็นกับดักที่ทำให้บุคคลบางกลุ่ม หรือบางคณะได้ใช้วิธีที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแต่เป็นการแอบอ้างได้ หากคนเป็นผู้นำที่ไม่สนใจ
หรือไม่เข้าใจวิถีทางการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้อย่างเต็มที่ ซึ่งรูปแบบประชาธิปไตยมีที่มาจากการยึดอำนาจการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาจนถึงปัจจุบันนี้ จะแบ่งเป็นยุค ๆ ได้ ดังนี้
1. ยุคคณะราษฎร์เรียกร้องการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งประกอบด้วยคณะทหาร, ตำรวจ, พลเรือนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475-2499
2. ยุคก่อการรัฐประหาร ที่เรียกกันว่าการก่อการปฏิวัติ ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 – 2516 เป็นต้นมา
3. ผลัดเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลฝ่ายพลเรือน ตั้งแต่รัฐบาลสัญญาธรรมศักดิ์,
รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร, รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์, รัฐบาลชวน หลีกภัย,
รัฐบาล พณท่านพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ
4. ยุครัฐประหารโต้กระแสฝ่ายรัฐบาลพลเรือน ได้แก่ยุคพลเอกสุจินดา คราประยูร
หรือยุคพฤษภาทมิฬ
5. ยุครัฐบาลพลเรือนที่เป็นรัฐบาลแบบนักธุรกิจในลักษณะที่เป็นประชานิยม (Populism)
เน้นการทำงานที่รวดเร็วและเข้ากับโลกาภิวัฒน์ ได้แก่รัฐบาลยุค
พณ.ท่าน ดร.ทักษิณ ชินวัตร
ที่มีผลงานหลากหลายและเข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศในระดับรากหญ้าที่ทำให้คนบางกลุ่มไม่ได้รับผลประโยชน์เกิดความไม่พอใจ
6. ยุครัฐประหารแบบเยือกเย็น (Silky
Revolution) เป็นยุคที่บทบาททหารได้ใช้ประสบการณ์จากการปฏิวัติที่ทำให้ภาพพจน์เสียหาย กลับมาสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ด้วยวิธีการล้มอำนาจรัฐบาลพลเรือน และพยายามเอาใจมวลชนที่สนับสนุน เนื่องจากการที่ฝ่ายปฏิวัติอ้างว่ามีการคอรัปชั่นแบบเครือข่าย
7. ยุครัฐประหารอันเนื่องจากความไม่สงบทางการเมือง
โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปี พ.ศ.2557-2562 ได้อาสาเข้ามาแก้ปัญหา ผลจากการบริหารของคณะทหาร
คสช.เป็นต้นมาจากการจัดอันดับจากวารสาร Economist
ได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีประชาธิปไตยปี 2018 พบว่าอันดับของไทยยังคงตามหลังบรรดาประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน
และมีคะแนะลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปีนับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ 5 ปีก่อน โดยระบุว่าประเทศไทยรั้งอันดับที่ 106 ด้วยคะแนน
4.63 จากคะแนนเต็มสิบ เท่ากับคะแนนที่ได้รับเมื่อปี 2017
จากความตกต่ำทางการปกครองแบบประชาธิปไตยทำให้ผู้เขียนสนใจที่จะหาแนวทางการพัฒนาประชาธิปไตยเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยอัจฉริยะในอนาคต
ซึ่งประชาชนมีความฉลาดและเข้าใจประชาธิปไตยที่แท้จริง
รากฐานแนวคิดประชาธิปไตยที่แท้จริง
ประชาธิปไตยถ้ามองเพียงผิวเผินก็มักจะเข้าใจถึงการมีการเลือกตั้ง, การมีรัฐสภา, การมีรัฐธรรมนูญ, การใช้สิทธิใช้เสียง ซึ่งยังเป็นประชาธิปไตยเพียงรูปแบบเท่านั้น แต่พฤติกรรมและจิตสำนึกประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องเนื้อหาสำคัญ แต่จริง ๆ แล้วเราอาจไม่รู้จักความหมาย, คุณค่า,
ความลึกซึ้งของประชาธิปไตยซึ่งเป็นแก่นแท้ ดังนั้นเราจะพบว่าการที่คนไทยจะเข้าถึงแก่นแท้ประชาธิปไตยนั้น สิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือการทำให้ประชาชนมีระบบเศรษฐกิจที่ดีเสียก่อนในลักษณะของการกระจายรายได้แก่คนในสังคมในทุกระดับ หากคนส่วนใหญ่ของประเทศยังอยู่ในสภาพล้าหลังและยากจน ก็ยากที่จะจรรโลงประชาธิปไตย และกลายเป็นการครอบงำทางความคิดไปสู่ระบบเก่า
ๆ หรือพฤติกรรมแบบเก่าที่ไม่ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ดังนั้น จึงขอทำความเข้าใจในหลักการและวิถีทางประชาธิปไตยเสียก่อน
การเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นเรื่องของการแสวงหาอำนาจโดยผ่านระบบตัวแทนเพื่อเข้าไปกำหนดนโยบายรัฐบาล
และกำหนดทิศทางการทำงานเพื่อใช้อำนาจรัฐนั้นสร้างความผาสุกให้แก่ปวงชนชาวไทย เพราะประชาชนไม่สามารถเข้าไปทำหน้าที่โดยตรงได้ จึงต้องมีระบบตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ ซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศมีการถ่วงดุลกัน 3 อำนาจด้วยกัน ได้แก่ ก. อำนาจนิติบัญญัติ
คืออำนาจในการออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมประชาชน ข. อำนาจบริหารหมายถึงอำนาจในการนำกฎหมายไปใช้บังคับ, และการนำเจตนารมณ์ที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker) ตรากฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม ค. และอำนาจตุลาการ คืออำนาจในการตัดสินคดีความที่อยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม,
ไม่เลือกปฏิบัติ, ไม่ใช้อิทธิพลแทรกแซงไม่ว่ากรณีใดๆ อำนาจทั้งสามประการนี้ต้องคอยตรวจสอบ, ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน หากอำนาจทั้ง 3 เหล่านี้ถูกแทรกแซงครอบงำก็จะทำให้อำนาจหนึ่งอำนาจใดมีมากเกินไป และในปัจจุบันแนวโน้มอาจใช้อำนาจของประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมรับรู้,
ติดตามผลจากอำนาจของภาคประชาชน ซึ่งการตรวจสอบอำนาจภาคประชาชนควรเป็นอำนาจที่บริสุทธิ์ไม่เจือด้วยผลประโยชน์จากคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นพิเศษ แต่ในทางปฏิบัติในสังคมไทยยังมีบุคคลบางกลุ่มที่มักแอบอ้างประชาธิปไตยโดยพิจารณาจากแนวคิดของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาธิปไตยของไทยถูกบิดเบือนไปตามกลุ่มผลประโยชน์
(Interest Group)
การปกครองประชาธิปไตยมีกำเนิดเริ่มเดิมทีเกิดขึ้นครั้งแรกที่นครรัฐกรีกโบราณเมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งมีลักษณะประชาธิปไตยโดยตรง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าร่วมชุมนุมและแสดงสิทธิความคิดเห็นได้ ทั้งนี้เพราะเมืองหลวงของกรีกมีอาณาเขตไม่ใหญ่โตกว้างขวาง และมีประชากรค่อนข้างเล็กน้อย แต่ในปัจจุบันไม่สามารถนำระบอบประชาธิปไตยโดยตรงมาใช้ได้ เพราะประชาชนมีมากเกินกว่าที่จะให้โอกาสมาใช้สิทธิในการแสดงออกได้ ดังนั้นประชาธิปไตยในปัจจุบันจึงเป็นประชาธิปไตยโดยผ่านตัวแทน
หรือประชาธิปไตยทางอ้อม เช่นการเลือกผู้แทนราษฎรเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร
และวุฒิสภา ดังนั้นหน้าที่ของตัวแทนจึงทำหน้าที่ในการรวบรวม,
แสวงหาสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในทุกระดับชั้นแต่สิ่งที่สำคัญในประเทศที่คนส่วนใหญ่ยังมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีนั้น ควรให้ความสำคัญกับกลุ่มบุคคลที่ยากจนมากที่สุดเสียก่อน หรือถ้าหากให้ความสำคัญกับกลุ่มคนระดับกลาง
และระดับสูงก็ควรให้มีการจัดเก็บภาษีลดหลั่นตามระดับรายได้ให้มากพอที่จะช่วยคนระดับล่างได้มากขึ้น, รวมทั้งสร้างรากฐานของระบบการศึกษาที่ขยายตัวในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เพิ่มพูนมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีการกินดีอยู่ดี,มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นหลักการประชาธิปไตยมีหัวใจสำคัญ 3 ประการ
ได้แก่ ก. อุดมการณ์ประชาธิปไตย ข. การปกครองแบบประชาธิปไตย และ ค.
วิถีชีวิตประชาธิปไตย และสิ่งสำคัญที่ผู้เขียนขอเพิ่มเติมคือ ประชาธิปไตยอัจฉริยะ ซึ่งหมายถึงการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนคนไทยในทุกระดับอย่างแท้จริง ประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจ, เข้าถึง
และพัฒนาขีดความสามารถประชาธิปไตยโดยเฉพาะระดับนักการเมืองหรือระดับผู้บริหาร,
ผู้นำต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และยอมรับกติการ่วมกัน และป้องกันไม่ให้เกิดวงจรอุบาทว์ทางการเมืองเข้ามาทำลายความมั่นคงของประชาธิปไตย ซึ่งก็คือความมั่นคงของชาติ และประชาชน ซึ่งในสากลของโลกได้ให้ความสำคัญกับการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
(Good Governance) ซึ่งกระแสของโลกนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องความโปร่งใส,
ความรับผิดชอบ, ความซื่อสัตย์, ฯลฯ ดังนั้นหากประเทศใดตกอยู่ภายใต้การปกครองที่มิใช่ประชาธิปไตยก็มักถูกปฏิเสธในการร่วมคบหาสมาคม
และทำให้มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดี และรวมถึงการค้าขายกับต่างประเทศด้วย และรวมถึงบดบังความสง่างามที่มีต่อประชาคมโลกได้ สิ่งหนึ่งผู้เขียนขอนำทัศนะของ จอหน์ ล็อค นักปรัชญาชาวอังกฤษ
ได้ให้ความหมายที่ยืนยงอยู่ทุกวันนี้ว่าด้วยอิสรภาพเอาไว้ดังนี้ว่า “เสรีภาพตามธรรมชาติ
(natural liberty) ของมนุษย์คือการเป็นอิสระจากอำนาจเหนือกว่าใด
ๆ บนโลก และการไม่ตกอยู่ภายใต้เจตจำนงหรืออำนาจในการบัญญัติกฎหมายของกลุ่มคนกลุ่มไหน
หากถูกปกครองโดยกฎธรรมชาติเท่านั้น เสรีภาพของมนุษย์ในสังคมหนึ่ง ๆ
คือการไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจนิติบัญญัติของผู้อื่น
หากแต่ต้องเป็นอำนาจที่สถาปนาผ่านการยินยอมในชุมชนทางการเมือง เสรีภาพหาใช่การอยู่ภายใต้การครอบงำของเจตจำนงใด
หรือถูกจำกัดโดยกฎใด หากแต่ต้องเป็นกฎหมายที่ถูกบัญญัติขึ้นผ่านการให้ความไว้วางใจ
(Locke 1977:213f; Two Treatises of Government, Part I, Chapter
4) ตามกรอบความคิดของ จอห์น
ล็อค อิสรภาพแบ่งออกเป็นสามด้านซึ่งแตกต่างกันออกไป
ได้แก่อิสรภาพทางร่างกายของตนเอง อิสรภาพทางความคิด และความรู้สึกของตนเอง และอิสรภาพที่จะจัดการต่อทรัพย์สินที่ตนได้มากโดยชอบทางกฎหมาย
ซึ่งแนวคิดของจอห์น ล็อค นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ใช้กันหลายประเทศในโลกนี้
อิสรภาพที่กล่าวมานี้ไม่ได้ถูกสังคมสร้างขึ้น แต่ดำรงอยู่ก่อนมีสังคมแล้ว
ดังนั้นการคงไว้ซึ่งสิทธิตามธรรมชาติในสังคมจะเป็นไปได้นั้นต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น
เมื่อเวลาผ่านไปสิทธิเหล่านี้จึงแปรเปลี่ยนมาเป็นข้อเรียกร้องของปัจเจกบุคคลต่อสังคม (Locke 1977: 213f; Two
Treatises of Government, Part I, Chapter 4)
หากประยุกต์กับประชาธิปไตยดังที่กล่าวมาข้างต้นในการวางรากฐานประชาธิปไตย
ผู้เขียนขอเสนอแนวทางต่าง ๆ ในเชิงกว้างเพื่อผสมผสานแนวคิดประชาธิปไตยดังนี้
1. ประชาธิปไตยในแง่ของการปกครอง คือการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับกติกาคือ
รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ต้องฉันทามติจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยไม่เลือกชั้น, วรรณะ, ผิวพรรณ,
เพศ ทุกคนมีความเสมอภาคกันตามกฎหมาย
2. ประชาธิปไตยในแง่ของการใช้สิทธิใช้เสียง คือประชาธิปไตยที่มีการรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน โดยถือเสียงส่วนใหญ่ พิทักษ์เสียงส่วนน้อย (Majority Rule,
Minority Right) ประชาธิปไตยมิใช่มาจากคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แต่บุคคลนั้นต้องมาจากตัวแทนของประชาชน และการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากที่สุด
3. ประชาธิปไตยในแง่ของวิธีการ คือประชาธิปไตยที่ใช้วิธีการประชาธิปไตย
แต่มิใช่ใช้วิธีการรัฐประหาร (Coup de’ tat’)
เพราะถ้าหากเป็นการยึดอำนาจแล้วก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยทันที ถึงแม้ว่าเราจะแอบอ้างว่ารัฐประหารเพื่อประชาธิปไตย แต่ทว่าวิธีการยังไม่เป็นประชาธิปไตย
4.
ประชาธิปไตยในแง่ของอุดมการณ์ คือประชาธิปไตยที่คนส่วนใหญ่ของประเทศมีอุดมการณ์ร่วมกัน และยอมรับร่วมกันว่าจะจรรโลงประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ไม่ตกเป็นเหยื่อของอำนาจนิยมครอบงำทางการเมือง , ไม่ใช้ประชาธิปไตยไปในทางแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือของกลุ่มบุคคล แต่เป็นประชาธิปไตยที่เอื้อประโยชน์สุขแก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะคนไทยมักติดตัวบุคคลมากกว่าหลักการ ทำให้เกิดกลุ่มบุคคลที่แตกต่างกัน และนำมาซึ่งความขัดแย้ง แต่ควรมีขันติธรรมในการยอมรับกติกามากกว่าการใช้วิธีการอื่น ๆ
ที่มิใช่ประชาธิปไตย ซึ่งก็คือหมายถึงการเล่นในเกมส์, ไม่เล่นผิดกฎกติกา, และเป็นสิ่งที่ผู้ไม่ได้เล่นในเกมส์ยอมรับได้ ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ แต่เป็นเรื่องของเหตุผล การรักษากติกาประชาธิปไตยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
5. ประชาธิปไตยในแง่ของการสร้างชาติ คือประชาธิปไตยที่คนส่วนใหญ่ร่วมกันผนึกกำลังความสามัคคีเพื่อกู้ชาติ
และพัฒนาชาติให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น ๆ ไป การรักษาสมานฉันท์จะต้องไม่มีจิตใจลำเอียง
หรือมีอคติใด ๆ หรือการลุ่มหลงผลประโยชน์ใด ๆ
ที่ทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหาย
6. ประชาธิปไตยในแง่ของคุณธรรม คือประชาธิปไตยที่มีลักษณะการไม่เห็นแก่ตัว,
เห็นแก่พวกพ้องโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องเป็นธรรม การมีนิสัยที่ไม่โลภโมโทสัน, รู้จักพอเพียงไม่เอาเปรียบคนอื่น, ไม่นิยมการใช้อำนาจข่มเหงผู้อื่นทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ, การมีจิตใจที่เป็นประชาธิปไตยในเชิงบวกโดยคำนึงถึงศีลธรรมอันดี, เคารพกฎหมายบ้านเมือง และเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม เป็นต้น
ความเป็นมาของประชาธิปไตยแบบไทยและแบบตะวันตก
วิวัฒนาการความเป็นมาของประชาธิปไตยมีความแตกต่างกันกับวิถีทางตะวันตกซึ่งวิถีประเพณีตะวันตกซึ่งต่างกับประเทศไทยอย่างมากทั้งในวิถีประเพณีของไทยซึ่งถูกปลูกฝังในการเกรงกลัวผู้มีอำนาจหรือในลักษณะอำนาจนิยม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ยังขาดการศึกษา
และเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังขาดความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตย
และรวมไปถึงกลุ่มบุคคลในชนชั้นกลางในปัจจุบันที่หลงกระแสโลกาภิวัฒน์
ในเรื่องของวัตถุนิยมที่แพร่หลายจากตะวันตกในเรื่องการบริโภคนิยมซึ่งเราพอจะวิเคราะห์พอสังเขปได้ดังนี้
การปกครองประชาธิปไตยของไทยเริ่มตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่
24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเกิดจากคณะราษฎร์ทำการปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
แต่จากปกครองตั้งแต่นั้นมาได้มีการรัฐประหารสลับกับการมีประชาธิปไตยเรื่อยมาจนทุกวันนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงโดยการรัฐประหารของรัฐบาลปัจจุบัน จึงให้มีการเลือกตั้ง
ภายใต้การเขียนกฎหมายโดยคณะรัฐบาล
คสช.ซึ่งทำให้แลดูว่าเป็นประชาธิปไตยของคนกลุ่มน้อยที่เขียนกฎหมายให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ ผิดกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มาจากการรับฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
ทำให้ขาดนิติรัฐนิติธรรม เนื่องการรัฐธรรมนูญมิได้เกิดจากประชาชนส่วนใหญ่
แต่เป็นเกมส์การช่วงชิงอำนาจของกลุ่มขั้วอำนาจ 2 ขั้ว
ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม
ทำให้เห็นว่าการปกครองประชาธิปไตยมีลักษณะเดินหน้าและถอยหลัง ทำให้ประชาธิปไตยขาดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
(Democratic Sustainable Development)
สำหรับแนวคิดประชาธิปไตยตะวันตกของสหรัฐอเมริกามีรากฐานจากจุดเริ่มต้นที่มีการค้นพบดินแดนใหม่คือประเทศสหรัฐอเมริกา
ซึ่งประชาชนที่โยกย้ายถิ่นฐานดินแดนจากยุโรปที่ต้องการความมีอิสรภาพและเสรีภาพได้เข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐานเป็นเวลามากกว่า
200
ปี จุดเริ่มต้นมาจากสมัยประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกาคือ ยอร์ช
วอชิงตัน จนกระทั่งถึงปัจจุบันอเมริกากลายเป็นประเทศมหาอำนาจ
และแผ่อิทธิพลคลอบคลุมไปทั่วโลก
จนกระทั่งหลายประเทศมองว่าอเมริกากลายเป็นประเทศที่เข้ามาแทรกแซง
จากการจัดระเบียบสังคมโลก
สำหรับแนวคิดสำคัญที่สะท้อนประชาธิปไตยของประเทศในแถบตะวันตก ได้กำหนดโดยเมื่อ
พ.ศ. 2547 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations
General Assembly)
มีมติเห็นชอบองค์ประกอบที่จำเป็นของการเป็นประชาธิปไตย จาก 172 ประเทศ งดออกเสียง 15 ประเทศ
และไม่มีประเทศใดออกเสียงไม่เห็นขอบกับมติดังกล่าว
โดยเน้นว่าประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่เป็นสากลอยู่ด้วยกัน 7 ประการ ได้แก่ 1. การแบ่งแยกอำนาจและการถ่วงดุลอำนาจ 2. ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ 3. ระบบพหุพรรคการเมืองและองค์กร 4. เคารพหลักนิติธรรม 5. หลักความรับผิดชอบและความโปร่งใส 6. ความเป็นอิสระและเสรีภาพของสื่อมวลชน
และพหุนิยมในสื่อ 7. การเคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางการเมือง (Meyer-Resender,2011
p.5) อย่างไรก็ตามแม้ว่าหลายประเทศทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแล้วก็ตาม
แต่ก็มิใช่ทุกประเทศมีระบอบประชาธิปไตยหยั่งรากลึกเข้มแข็ง
บางประเทศมีการพัฒนาประชาธิปไตยที่มีสภาวะชะงักงัน
และหันกลับไปสู่ระบอบเผด็จการหรืออำนาจนิยมอีกครั้ง ดังที่ซามูเอล ฮันติงตัน (Samuel
Huntington) นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้อธิบายการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศต่าง
ๆในโลกเป็นระลอกคลื่น (the wave of democratization) ซึ่งระลอกคลื่นประชาธิปไตยจะมีปรากฏการณ์ประชาธิปไตยย้อนกลับ
(the reverse wave of democratization) และตามทัศนะ Samuel P. Huntington อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ผุ้มีความเชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เขาเขียนหนังสือ “The
Clash of Civilizaiton and the Remaking of World Order”
ตีพิมพ์เมื่อปี 2539 แม้จะพิมพ์ออกมา 10 ปีแล้ว
หนังสือเรื่องนี้ยังมีความทันสมัยและความหลากหลายในการใช้เป็นเทียนส่องแสงเพื่ออ่านเหตุการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับความขัดแย้งรุนแรงระหว่างโลกมุสลิมกับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร ซึ่งเขาได้คาคคะเนอนาคตได้อย่างถูกต้อง
เพื่อให้เกิดการแบ่งความคิดของกลุ่มคนในสังคมไทยและแนวคิดตะวันตกโดยสรุปโดยแบ่งกลุ่มดังนี้
ก. กลุ่มประชาชนคนยากจนหรือเกษตรกร มีวิถีชีวิตค่อนข้างลำบากยากจนในท้องถิ่นชนบทห่างไกลความเจริญของสังคม มักหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องจึงไม่ค่อยสนใจในวิถีทางประชาธิปไตยอย่างจริงจังในลักษณะสร้างจิตสำนึกในความคิด ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมักฝากความหวังในการช่วยเหลือจากรัฐบาล
เช่นการช่วยเหลือในเรื่องเงินทอง, สาธารณูปโภค,
ซึ่งมักเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยในการดำเนินชีวิต
พูดง่าย ๆ
ก็คือประชาชนคนไทยไม่สนใจว่าการเมืองประชาธิปไตยจะเป็นเช่นใด จึงมองประชาธิปไตยเป็นเพียงรูปแบบเช่นมีการเลือกตั้ง, มีผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของประชาชน โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับรัฐบาลจะมีการคอรัปชั่นมากน้อยเพียงใด
ขอแต่เพียงให้มีกินมีใช้ไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น ดังนั้นผู้ที่เป็นตัวแทนสมัครเข้ารับการเลือกตั้งหากไม่มีเงินทอง ก็ไม่สามารถจะไปช่วยเหลือชาวบ้านได้ ทำให้การเมืองไทยไม่สามารถทำให้บุคคลธรรมดาซึ่งอาจเป็นคนมีความรู้แต่ไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจมากมายไปช่วยเหลือชาวบ้านได้ หรือบางท่านอาจมีฐานะดีแต่ไม่อยากเข้ามาเล่นการเมืองโดยวิธีนี้ แต่ถ้าเข้ามาเล่นจะโดยไม่ซื้อเสียงทางการเมืองก็ต้องเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง
และได้รับความนิยมจากประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งก็มีอยู่เป็นจำนวนน้อยทีเดียว แต่ประชาธิปไตยของตะวันตกในประเทศที่เจริญหรือพัฒนาแล้ว
ก็ไม่มีให้เห็นถึงการปฏิวัติรัฐประหาร ทั้งนี้เพราะว่าการพัฒนาประชาธิปไตยของตะวันตกเกิดจากประชาชนของเขามีจิตสำนึกประชาธิปไตยซึ่งเป็นลักษณะเนื้อหามากกว่ารูปแบบประชาธิปไตย
แต่ประชาธิปไตยของตะวันตกอาจจะมีข้อเสียตรงที่ว่าผู้นำในประเทศที่เจริญแล้วอาจชอบไปจัดระเบียบสังคมโลก
และเข้าไปก้าวก่ายซึ่งอาจไม่ใช้วิธีการเป็นประชาธิปไตยก็ได้ ทำให้ระบบโลกทุกวันนี้ยังมีความสับสน (Chaos World Politics) เพราะว่ากติกาประชาธิปไตยในแต่ละประเทศยังมีลักษณะกติกาที่ไม่เหมือนกัน
และแตกต่างกัน ไม่เหมือนกติกาฟุตบอลซึ่งจะลงสนามแข่งประเทศไหนก็ใช้กติกาเหมือนกันหมด
มีมาตรฐานการเล่นที่แน่นอน แต่การตัดสินจะยุติธรรมหรือไม่เป็นเรื่องของแต่ละประเทศ
แต่วิถีการปกครองประชาธิปไตยผู้เล่นคือประชาชนทั้งหมด และต้องรู้กติกาเป็นอย่างดีและมีสปิริตในด้านการเล่น แต่ถ้าหากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยยังขาดจิตสำนึกด้านประชาธิปไตยที่ถูกต้องแล้ว
ผลก็คือทำให้การเมืองไทยมีลักษณะวงจรอุบาทว์
คล้ายกับวงจรอุบาทว์ของความยากจนนั่นเอง และเป็นความยากไร้
และความจนทางปัญญาด้านประชาธิปไตย และรวมไปถึงด้านจิตใจที่ดีมีศีลธรรม
แต่อาจฟุ้งเฟ้อทางด้านวัตถุ และหลงใหลไปตามกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้จิตวิญญาณประชาธิปไตยที่คนไทยอุตส่าห์ต่อสู้มาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เจือจางสูญหายไป
เพราะขาดรัฐบาลที่สนใจและเอาใจใส่บำรุงเลี้ยงดูประชาธิปไตยให้เจริญงอกงาม
และมัวแต่ไปสนใจด้านเศรษฐกิจปากท้องโดยเฉพาะรัฐบาลยุค พณ.ท่านดร. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
ซึ่งเน้นทางด้านโลกาภิวัฒน์ และประกาศตนเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ทุกภาคส่วนในสังคมยังตามท่านไม่ทัน เพราะท่านเน้นการบริหารแต่ไม่ได้เน้นการปกครองจึงทำให้กลุ่มนักวิชาการไม่มีความพอใจซึ่งจริง
ๆ แล้ว เรื่องปากท้องก็เป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดของคนไทย
แต่เนื่องจากมีบุคคลกลุ่มชนชั้นกลาง
และนักวิชาการที่สนใจวิถีการปกครองแบบประชาธิปไตยได้เข้ามามีบทบาท
และคอยติดตามดูมาตลอด แต่ก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่มีประชาชนสนใจมากพอสมควร
มักเป็นประชาชนภายในสังคมเมืองมากกว่าในชนบท
สังคมไทยจึงคาดหวังผู้นำที่จะทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง
และมีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ซึ่งเปรียบเสมือนรถไฟรางคู่ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายทีเดียวดังนั้นวัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชนกลุ่มนี้จึงมีลักษณะวัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้า
(Subject
political culture) และมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของนักการเมือง
ไม่เกี่ยวกับประชาชน
ข.กลุ่มประชาชนชนชั้นกลาง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบุคคลที่มีการศึกษาดี และมักอยู่ในเมือง ความต้องการด้านเสรีภาพในการคิด, ขีดเขียน
และการแสดงออกจึงมีความต้องการมากกว่ากลุ่มบุคคลอื่น ๆ
และหากรัฐบาลไม่ฟังเสียงคนกลุ่มนี้
หรือมีนโยบายที่ขัดแย้งกับกลุ่มที่ทำงานในภาครัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นกลุ่มที่มีองค์กรเข้มแข็งมากจากประวัติศาสตร์เท่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะรัฐบาลยุค ดร.ทักษิณ ชินวัตรได้ประสบปัญหากับความขัดแย้งทางความคิด รวมทั้งบทบาทของฝ่ายค้านที่มองว่ารัฐบาลมีเสถียรภาพมากเกินไป และใช้อำนาจในลักษณะเชิงประชานิยม ซึ่งนับวันเป็นการเพาะเชื้อให้เกิดความไม่พอใจ
ซึ่งผู้นำไทยควรจะมีบุคลิกลักษณะประนีประนอม และมีความเห็นอกเห็นใจกลุ่มบุคคลต่างๆ
ด้วยท่าทีที่เป็นกันเอง และมีลักษณะเป็นการเปิดเผย,
ให้เสรีภาพ และยอมรับฟังความคิดเห็นก็จะทำให้กลุ่มบุคคลต่าง ๆ
ได้ลดทิฐิ, การเอาชนะโดยใช้วิธีที่รุนแรง, หรือการโจมตี รวมไปถึงการใส่ร้ายป้ายสี ซึ่งไม่เกิดผลดี บทบาทของผู้นำและพฤติกรรมของผู้นำไทยจึงมีความสำคัญ เช่นการลดระดับความเชื่อมั่นในตนเองให้น้อยลง, รับฟังความเห็นให้มากขึ้น,
ใส่ใจกับทุกปัญหาไม่ว่าปัญหาจะเป็นปัญหาเล็กน้อยก็ตาม
แต่ปัญหาเล็ก ๆอาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ยากที่จะเยียวยาแก้ไขได้
เปรียบเสมือนน้ำผึ้งหยดเดียวก่อให้เกิดปัญหาลุกลามบานปลายจนไม่สามารถหยุดยั้งได้
ในโลกตะวันตกมีปัญหาคนยากจนค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง (middle class)
หรือเป็นชนชั้นที่ร่ำรวยแล้ว และมีการศึกษาค่อนข้างสูง ทำให้ประเทศในตะวันตกมักไม่ปรากฏมีปัญหาที่ต้องใช้รถถังมาทำการก่อรัฐประหารเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถขจัดปัญหาการก่อการรัฐประหารและทหารก็อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลซึ่งเกิดจากจิตสำนึกทางประชาธิปไตยที่ได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดี หรือที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบต้นโพธิ์ต้นไทร
มีลักษณะประชาธิปไตยค่อนข้างยั่งยืนไม่ล้มลุกคลุกคลาน หรือถอยหลังลงคลอง ประชาชนมีระเบียบวินัย เข้าใจและสำนึกประชาธิปไตยโดยไม่ต้องสอน
เพราะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ระบบครอบครัว, สังคม,
ชุมชน, องค์การต่าง ๆ ทุกคนต่าง ๆ
ทนุถนอมให้ประชาธิปไตยมีวิถีที่ดี, มีเสรีภาพ, มีความเสมอภาค และมีภราดรภาพ
อย่างสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีลินคอล์นที่ว่า “การปกครองประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน,โดยประชาชนและเพื่อประชาชน” และจากคำสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันที่ว่า “มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน” (Man is
equal) ดังนั้นในสังคมที่มีการแบ่งชั้น
หรือแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจะไม่สามารถเป็นสังคมประชาธิปไตยได้
ดูตัวอย่างจากประเทศอินเดียที่มีชนชั้นวรรณะ 4 วรรณะได้แก่ พรามณ์, แพทย์, จัณฑาล,
สูทร แม้ว่านายกรัฐมนตรีดอกเตอร์อัมเบก้า
ประกาศในรัฐธรรมนูญข้อแรกว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันภายใต้รัฐธรรมนูญ
แต่พฤติกรรมในสังคมของคนอินเดียก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงกล่าวคือยังมีการถือชั้นวรรณะกันอยู่
ดังนั้นสิ่งสำคัญของรัฐบาลพลเรือนต้องทำให้ประชาชนมีการกินดีอยู่ดีเสมอภาคกัน เพื่อสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยอย่างที่คนไทยต้องการ การปลูกฝังประชาธิปไตยในหมู่ชนชั้นกลางจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่เราจะพบว่าสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ของไทยยังไม่ค่อยมีการสอนเรื่องประชาธิปไตยอย่างเป็นจริงเป็นจัง ส่วนใหญ่หลักสูตรมหาวิทยาลัยมักเป็นหลักสูตรที่เน้นวิชาชีพเพื่อหางานทำมากกว่าสนใจสังคม หรือการเมืองแบบประชาธิปไตย การที่ผู้มีความรู้และการศึกษาดีขาดการศึกษาในเรื่องนี้เป็นส่วนใหญ่
ทำให้ประชาธิปไตยมักไปสนใจในกลุ่มบุคคลที่เรียนทางด้านรัฐศาสตร์,
นิติศาสตร์, สังคมวิทยา, พัฒนาสังคม ฯลฯ เป็นส่วนใหญ่ แต่กลุ่มวิชาชีพอื่น ๆ แล้วไม่ได้มีการถ่ายทอดอย่างเต็มที่ แม้กระทั่งการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาก็ไม่ค่อยเห็นมีวิชาเกี่ยวกับประชาธิปไตยเพื่อสร้างจิตสำนึกตั้งแต่เล็ก
ๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมไทย เพราะว่าการปกครองประชาธิปไตยของไทยเป็นการลอกเลียนแบบหรือนำรูปแบบจากต่างประเทศ
คนไทยส่วนใหญ่ในวิถีชีวิตไม่ค่อยมีประสบการณ์ในเรื่องประชาธิปไตยและเข้าใจประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบประชาธิปไตยตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้ประชาธิปไตยของไทยถูกตัดตอน
และลดทอนความสนใจอย่างมาก
ค.กลุ่มประชาชนคนชั้นสูง และร่ำรวย เป็นกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญในการกำหนดทิศทางการเมือง
และการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะนักธุรกิจ,
พ่อค้าวาณิชย์, ข้าราชการระดับสูง,
นักวิชาการที่มีชื่อเสียง , และนักการทหารระดับสูง มักเป็นกลุ่มผู้คอยสังเกตการณ์และบางครั้งก็เข้าร่วมกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง
ซึ่งคนกลุ่มนี้มักมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลง
และการเข้าไปแสวงหาอำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์จากทางการเมือง แต่บางคนก็มีลักษณะที่ไม่สนใจและไม่สนใจในการเข้ามามีบทบาททางการเมือง
เพราะมองว่าการเมืองเป็นเรื่องที่เปลืองตัว หากทำดีก็เสมอตัว หากทำมีปัญหาก็อาจทำให้เกิดเสียชื่อเสียงอย่างร้ายแรงได้
การเล่นการเมืองจึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อชื่อเสียง, วงศ์ตระกูล เข้าทำนองเสียงมากได้มาก,
เสี่ยงน้อยได้น้อย (High Risk, High Return, Low Risk,
Low Return) บางคนอาจมีราชรถมาเกยในตอนที่มีการปฏิวัติรัฐประหารซึ่งถือว่าเป็นเรื่องโชคดี
ที่ไม่ต้องลงทุนทางการเมือง หรือนักวิชาการที่เข้าร่วมทางการเมืองอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักประชาธิปไตยว่ายอมรับใช้กลุ่มที่ล้มอำนาจทางด้านประชาธิปไตย
จึงถือว่าเป็นการเสี่ยงทั้งนั้น
แต้ถ้าหากมีความจริงใจในการแก้ปัญหาบ้านเมืองก็อาจเป็นเรื่องดีก็ได้แต่ก็อาจถูกกล่าวหาว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แม้กระทั่งผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ต้องเสียเงินเสียทองมากมาย แม้จะมี กกต.
ก็ตาม เนื่องจากนักการเมืองส่วนใหญ่มีความเห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังยากจน
หากไม่ช่วยเหลือแล้ว การสอบได้เป็นผู้แทนก็คงเป็นเรื่องที่ลำบาก
ซึ่งหากพิจารณาอย่างเป็นรูปธรรมว่าผู้ที่ลงเล่นการเมืองแล้วมีแต่ความรู้หรือมียศถาบรรดาศักดิ์ก็ตาม
แต่ถ้าไม่มีเงินแจกจ่ายชาวบ้านแล้ว ก็ไม่สามารถได้รับเลือกเป็น
สส.ได้แน่นอน ลองท่านผู้ที่ทำการปฏิรูปการปกครองมาลงเลือกตั้งก็เหมือนกัน
ท่านก็จะไม่สามารถหนีกฎเกณฑ์นี้ เว้นเสียแต่การเมืองบ้านเราสามารถขจัดปัญหาการซื้อเสียงได้อย่างจริงจัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นรัฐบาลที่ได้เสียงข้างมากควรปลูกฝังอย่างจริงจัง
ในการไม่ให้มีการซื้อเสียงเข้ามา เพราะถ้าหากลงทุนมากผู้ที่เข้ามาบริหารประเทศก็หวังจะถอนทุนคืนซึ่งมักเกิดกับรัฐบาลพลเรือนแทบทุกรัฐบาลก็ว่าได้และมักเป็นเหยื่อหรือเงื่อนไขของการปฏิวัติรัฐประหารเรื่อยมา
เพราะประเทศไทยยังขาดกลไกที่ควบคุมการซื้อเสียงเลือกตั้งได้
นอกเสียจากหากลวิธีที่ทำให้การซื้อเสียงน้อยที่สุด
ในลักษณะการบังคับให้ระบบการเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม และให้ความเสมอภาคกันในการหาเสียง,
การติดป้าย, การรณรงค์เลือกตั้ง, การที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งแบบเคลื่อนที่เข้าหาชุมชน
หรือการบริการรถโดยสารฟรีเพื่อนำพาประชนไปสู่สนามเลือกตั้ง, หรือการสมนาคุณแก่ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ก็อาจแก้ปัญหาได้
แต่ก็ต้องระวังถูกกล่าวหาว่าเป็นเรื่องประชานิยม ซึ่งแก้ปัญหาได้โดยมีองค์กรกลางเข้ามาจัดการด้านนี้โดยตรงที่เชื่อถือได้ เช่นอาจมีองค์กรกลางเลือกตั้งที่เลือกตั้งจากประชาชนในแต่ละจังหวัดมาทำหน้าที่ก็ได้
แต่การณ์ปรากฏว่าวิธีการประชาธิปไตยของไทยได้มีปรับเปลี่ยนแบบเผด็จการ
ทำให้การพัฒาการเมือง
กรอบแนวคิดทฤษฎีประชาธิปไตยพัฒนา
จากปัญหาที่ประเทศไทยประสบกับภาวะทางการเมืองที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด มีลักษณะที่เหมือนรถยนต์วิ่งขึ้นไปข้างหน้า และต้องถอยหลังกลับมานั้น เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจ
และสร้างความสับสนกับลัทธิการปกครองอันเนื่องจากมนุษย์มีความคิดเห็นที่หลากหลาย
และแตกต่างกัน กลุ่มใดที่มีอำนาจมากเกินไปอาจใช้อำนาจไปในทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะความคิดรูปแบบประชาธิปไตยของคนไทยมีความเห็นไม่อยู่ในมาตรฐานหรือกติกาอันเดียวกัน บุคคลที่เป็นผู้นำในสังคมจะต้องระมัดระวังในการวางตนให้สมกับนักประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่ในการบริหารประเทศนั้นหากเรามุ่งแต่เรื่องประชาธิปไตยอย่างเดียวก็มีอันหวังว่าประชาชนคนไทยก็คงลำบากยากจน และหากคนในกลุ่มสังคมขาดแบบแผนประชาธิปไตยอันเดียวกันแล้วไซร้ก็จะทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมแห่งความสับสน และก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างไม่มีวันจบสิ้น การปรองดองสมานฉันท์และทำความเข้าใจในหลักการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ผู้นำจำต้องมีบุคลิกความคิดจิตวิญญาณแบบประชาธิปไตย โดยไม่นิยมการใช้กำลังรุนแรง, การไม่ยอมรับความคิดเห็นของฝ่ายที่มีความคิดไม่เหมือนกัน เป็นธรรมดาที่ประชาธิปไตยจะต้องมีความเห็นไม่ลงรอยกันบ้าง
และวุ่นวายสับสนไปบ้าง แต่การเคารพกติกาของสังคมเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็มิใช่กติกาของคนบางกลุ่มตั้งกันขึ้นมาโดยขาดการยอมรับคนส่วนใหญ่
หรือของสากลประเทศยอมรับ ดังนั้นสิ่งที่สังคมไทยเรายังขาดความเข้าใจในวิถีการปกครองประชาธิปไตยนั้นเกิดจากการขาดความฉลาด
หรืออัจฉริยะทางประชาธิปไตยนั่นเอง หากประเทศไทยมีการสร้างสังคมอัจฉริยะประชาธิปไตยในทุกภาคส่วน
ซึ่งอาจจะแตกต่างจากสังคมตะวันตกบ้าง ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืน มิใช่ประชาธิปไตยแบบต้นกล้วยที่ถูกโค่นอยู่
บ่อยครั้ง ก่อนที่จะทำความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยอัจฉริยะนั้นเรามาศึกษาถึงความหมายกันก่อน
ความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย”
บางท่านให้คำนิยามง่ายๆ ว่าประชาธิปไตยคือการปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
หรือมาจากประชาชน ซึ่งก็หมายความว่าประชาธิปไตยถ้าไม่อยู่ในอำนาจของประชาชนก็ถือว่ามิใช่ประชาธิปไตย โดยดูจากสมการดังนี้
ประชาธิปไตย = อำนาจสูงสุดของประชาชน
อริสโตเติ้ล (Aristotle)
ให้ความหมายประชาธิปไตยแบบเดียวกันว่าประชาธิปไตยก็คืออำนาจสูงสุดอยู่ในมือของประชาชนทั้งหมด ซึ่งเขามีทัศนะว่าเป็นระบบการปกครองที่ปลอดภัยมากที่สุด
A.D. Lindsay ให้ความหมายว่าประชาธิปไตยตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่ามนุษย์สามารถตกลงทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดร่วมกันได้ และในทำนองเดียวกันก็มีวิถีชีวิตของแต่ละปัจเจกชนได้ เกิดจากการยอมรับนับถือเคารพนับถือบุคลิกภาพซึ่งกันและกันมากพอ เราก็สามารถจะหาหลักเกณฑ์ของระบบสิทธิเสรีภาพ ซึ่งทำให้บุคคลบรรลุถึงชีวิตอันเสรีได้ ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดในทัศนะของเขาคือ “การปรึกษาหารือถกเถียงกัน” ดังนั้นจากความหมายดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์เราต้องยอมรับในความแตกต่างของบุคลิกภาพ มิใช่ใช้ความเห็นของตนเองเป็นเครื่องกำหนดบุคลิกภาพหรือกลุ่มคนที่ยอมรับบุคลิกภาพเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะมนุษย์มีความแตกต่างกัน, มีความหลากหลาย
แต่ควรทำความเข้าใจกันด้วยการพูดจาปราศรัยกันโดยไม่มีทิฐิเป็นเครื่องกั้นใดๆ
ประชาธิปไตย = การยอมรับความแตกต่างในบุคลิก + การยอมรับนับถือกัน +
การปรึกษาหารือถกเถียงกันกรณีความเห็นไม่ลงรอยกัน
Carton C’Rodee ให้ความหมายประชาธิปไตยคือการใช้ความพยายามก้าวไปสู่ชีวิตที่ดีงาม
เพื่อประชาชนของคนทุก ๆ คน โดยไม่หยุดยั้ง นั่นก็คือการให้เสรีภาพของแต่ละคนให้มากที่สุด พร้อม ๆ กับการให้ความคุ้มครองชีวิต, ความปลอดภัย,
การสงเคราะห์ และการมีโอกาสในชีวิตที่กว้างขวางที่สุดสำหรับทุกคน
เท่าที่ธรรมชาติจะอำนวย เพื่อการพัฒนาบุคลิกภาพให้เต็มที่ที่สุด
และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากที่สุด
จากความหมายดังกล่าว จะเห็นว่าการปกครองประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่พยายามให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากที่สุด, ได้รับการคุ้มครองสูงสุด, สร้างโอกาสชีวิตสูงสุด
(ในสังคมของไทยมักเป็นสังคมที่ยังไม่กระจายโอกาสที่เท่าเทียมกัน จะเห็นว่าคนจนก็ต้องจนไปตลอดชีวิต ไม่ได้มีโอกาสพัฒนาตนเองให้ทัดเทียมกันบุคคลอื่นๆ บุคคลที่มีอำนาจในสังคมกลับมีโอกาสมากมาย และมีการใช้อภิสิทธิ์กันในทางที่
ผิดๆ เช่นระบบอุปถัมภ์, ระบบพรรคพวกเป็นใจ,ระบบเน่าหนอนชอนไช, ระบบเจ้าขุนมูลนาย,
ระบบธนกิจทางการเมือง
ซึ่งทำให้สังคมไทยยังมีอุปสรรคเรื่องประชาธิปไตยค่อนข้างมาก และยังติดยึดกับระบบอำนาจนิยม ซึ่งหมายถึงว่าใครมีอำนาจจะคิดทำอะไรก็ถูกต้องเสมอ โดยไม่ได้รับฟังเสียงคนส่วนใหญ่ของประเทศ จากลักษณะดังกล่าวการจัดการห่วงโซ่อุปทานในด้านประชาธิปไตยเพื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรมประชาธิปไตยจึงมีโอกาสถูกบิดเบือน,
เฉไฉ อันเนื่องจากความเข้าใจประชาธิปไตยกันคนทิศคนละทาง และมีโอกาสถูกตัดตอนห่วงโซ่ไปถึงประชาชนในระดับล่างได้ ซึ่งคำว่าการจัดการห่วงโซ่อุปทานหมายถึงวิถีทางที่จะนำเอาประชาธิปไตยไปสู่มือของประชาชนทั้งประเทศได้ เป็นการเคลื่อนที่หรือการบริการไปถึงประชาชน เช่นทำให้ประชาชนในชุมชนมีอำนาจในการตัดสินใจของเขาเองได้ โดยรัฐไม่เข้าไปแทรกแซงใดๆ รัฐเป็นแต่เพียงจัดสรรโอกาสการมีส่วนร่วม และป้องกันการใช้ความรุนแรงเท่านั้นเอง จากความหมายดังกล่าวข้างต้นสามารถเขียนในรูปสมการเพื่อความเข้าใจอย่างง่ายๆ
คือ
ประชาธิปไตย = หลักประกันสิทธิเสรีภาพ + การคุ้มครองชีวิต + ความปลอดภัย + มีโอกาสสร้างชีวิตได้สูงสุด
ทฤษฎีประชาธิปไตยพัฒนา (Developmental
Democracy Theory)
ผู้เขียนขอหยิบยกอ้างอิงจากนักวิชาการที่ชื่อ
Stephens,
John D (2005) ให้ทัศนะทฤษฎีการพัฒนาประชาธิปไตยในการพัฒนาและประชาธิปไตยในระบบทุนนิยม
โดยกล่าวว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปรกติจะต้องเป็นการเลือกตั้งที่อิสระและยุติธรรม
(Free and Fair elections) ภายใต้เงื่อนไขของคะแนนเสียงเป็นที่ยอมรับของสากล,
เป็นความรับผิดชอบของรัฐในการใช้เครื่องมือในการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรที่เป็นของประชาชน
และรับประกันต่ออิสรภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่มของสังคม
ซึ่งนักวิชาการท่านนี้ได้ให้ทัศนะว่าการพัฒนาของประชาธิปไตยเป็นผลพวงของกลุ่มก้อนอำนาจ
3 ประการ อันได้แก่ (ก)
มีดุลถ่วงอำนาจของระดับชั้นอำนาจในลักษณะที่มีความสำคัญของดุลถ่วงอำนาจในสังคมพลเมือง (ข)
ธรรมชาติของรัฐและความสัมพันธ์ของรัฐกับสังคม
หรือดุลถ่วงอำนาจระหว่างรัฐกับสังคมพลเมือง
และ (ค) โครงสร้างข้ามชาติของอำนาจ หรือระบบเศรษฐกิจนานาชาติ
และระบบของรัฐ จากทฤษฎีในประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้วจะเห็นว่าประเทศไทยยังมีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่พัฒนาเดินหน้าและก็เดินถอยหลัง
ระบบการเลือกตั้งมีปัญหา และระบบการตัดสินในกระบวนการยุติธรรมที่ขาดความเป็นอิสระ
และอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลทำให้ระบบประชาธิปไตยขาดการพัฒนา
ทำให้รัฐบาลมีอำนาจมาก (Powerful) แต่ประชาชนมีอำนาจน้อยมาก (Powerless)
ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนแตกเป็นสองขั้วความคิด
ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้สังคมมีความสับสนอลเวง (Chaos Society)
ซึ่งสังเกตได้จากพฤติกรรมที่มีสองฝ่ายคือฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายที่ก้าวหน้ามีความเห็นในการปกครองประชาธิปไตยต่างมุมมอง หากนำหลักการของทฤษฎีประชาธิปไตยพัฒนาตามแนวคิดของ
Stephens มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทการปกครองของไทยก็จะเป็นความเหมาะสม
เพราะมีตัวชี้วัดที่ต้องพัฒนาคือการถ่วงดุลอำนาจระดับชั้นอำนาจของไทยยังมีปัญหา
และต้องแก้ไขพัฒนาเพื่อสร้างความเชื่อถือของประชาชนและนานาชาติ
และการเพิ่มพลังอำนาจของประชาชนให้มากขึ้นอย่างบริสุทธิ์ใจเพื่อการตื่นตัวต่อสังคมประชาธิปไตยด้วยการสร้างพลังความสามัคคีปรองดองของคนในชาติให้มากที่สุด
ไม่มีการแบ่งแยกเขาแบ่งแยกเรา ยึดมั่นในหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง
จากการให้ความหมายของประชาธิปไตยพัฒนา จะพบว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ประเทศไทยได้นำแนวคิดจากตะวันตกมาประยุกต์ใช้ แต่ยังขาดจิตสำนึก และวินัยในเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งการเข้าใจประชาธิปไตยแบบไทยยังเป็นความเข้าใจแบบผิวเผิน และดูเหมือนจะไม่ให้ความใส่ใจเท่าที่ควรในขณะนำเอาหลักการประชาธิปไตยไปใช้ เพราะผู้นำและคนไทยส่วนใหญ่ยังติดระบบอำนาจนิยม จะสังเกตว่าเราจะนิยมคนมีอำนาจ, การติดสอยห้อยตามผู้มีอำนาจ,
การไม่กล้าแสดงความคิดเห็นต่อผู้มีอำนาจ หรือการไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะเห็นว่าเรายังเข้าไม่ถึงประชาธิปไตยจริง ๆ เท่าที่ควร ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองประชาธิปไตยสิ่งสำคัญที่สุดคือผู้นำต้องมีความคิดจิตประชาธิปไตยที่ดีเสียก่อน เพราะลำพังการจะปฏิบัติตามกฎหมาย
หรือหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยหาช่องโหว่ทางกฎหมายก็ตาม ก็ไม่สามารถจะทำให้บุคคลที่เป็นผู้นำมีความสมบูรณ์แบบได้ ซึ่งการสร้างประชาธิปไตยพัฒนานั้น ผู้เขียนขอเสนอแนวคิดในแต่ละกลุ่มทางสังคม เพื่อให้เห็นภาพอย่างชัดเจน ดังนี้
ประชาธิปไตยพัฒนาในแง่ของประชาชน
หรือปัจเจกชน ประชาธิปไตยในระดับนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนควรได้รับการศึกษาเกี่ยวกับประชาธิปไตย ในด้านการศึกษาซึ่งรัฐบาลควรกำหนดให้มีการถ่ายทอดประชาธิปไตยในทุกหมู่บ้าน,
ตำบล, อำเภอ, และจังหวัด เน้นการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกโดยอาจผ่านสื่อต่าง ๆ เช่นการใช้สิทธิ, เสรีภาพต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน การสร้างพลังความสามัคคีของประชาชน ตัวอย่างประชาธิปไตยพัฒนาของปัจเจกชนเป็น ดังนี้
ก.
การรู้จักทั้งสิทธิและการทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี การเคารพรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น,
การละเมิดสิทธิของผู้อื่น, การให้เกียรติในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกัน
ข. การรู้สึกรักเพื่อนมนุษย์ และมองโลกในแง่ดี ไม่มีจิตใจคิดหวาดระแวงผู้อื่น, ให้โอกาสผู้อื่น,
มีลักษณะไม่หวงแหนแต่มีลักษณะของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มิใช่ต่างคนต่างอยู่ แต่มีลักษณะของการมีความเข้าใจผู้อื่นอย่างแท้จริง ไม่ใช้อัตตาในการตัดสินวินิจฉัยผู้อื่นโดยไม่ให้โอกาสผู้อื่นได้แสดงออก
ค. มีทัศนะที่หลากหลาย, หลายมุมมองหลายมิติ การที่ปัจเจกชนมีความรอบรู้
และมีประสบการณ์ในชีวิตจะทำให้มองโลกอย่างกว้างขวาง และมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทำให้บุคคลมีการปรับตัวที่เข้าใจมนุษย์
และทำให้รู้จักใช้ประชาธิปไตยในการรับฟังเหตุผลเป็นอย่างดี
ง. การรู้จักรักษากติกา, รักษากฎระเบียบสังคมที่ดี ไม่นิยมการแหวกกรอบกฎเกณฑ์เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว, มีจิตใจโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนมนุษย์ และการเสียสละเพื่อส่วนรวมซึ่งบางครั้งอาจทำให้สิทธิส่วนตนสูญเสียไปบ้างก็ตาม
จ.
มองปัญหาของสังคม และของประเทศไทยเป็นเรื่องสำคัญ, มีความตื่นตัวต่อการเรียกร้องเพื่อให้ประชาธิปไตยมีความสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง มีความกล้าหาญในสิ่งที่ถูกต้องแม้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้ตนเองได้รับความเดือดร้อนก็ตาม มีลักษณะที่ไม่ชอบระบบอำนาจนิยม, การใช้อำนาจเผด็จการ, รู้จักให้อภัยและให้โอกาสแก่ผู้อื่นแม้ว่าบุคคลผู้นั้นอาจทำความผิดพลาด
หรือเป็นคนไม่ดีมาก่อน
อาจกล่าวได้ว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยเพื่อให้มีวัฒนธรรมและมีจิตสำนึกประชาธิปไตยอาจถึงขั้นต้องมีการปฏิวัติวัฒนธรรมประชาธิปไตยในประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะระดับรากหญ้าเพื่อสร้างค่านิยม, จิตสำนึกที่ดี และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และการติดตามตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ นั่นก็คือการเมืองประชาธิปไตยแบบภาคประชาชนนั่นเอง มิฉะนั้นบุคคลที่ทำการรัฐประหารก็มักจะอ้างประชาธิปไตย โดยที่วิธีการยังไม่ใช่ประชาธิปไตย ก็ยิ่งจะสร้างความสับสนในบรรยากาศ ทำให้อุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยถูกบิดเบือน
และต้องเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งไป กลายเป็นวงจรอุบาทว์ทางการเมือง และตัวแปรที่สำคัญของประชาธิปไตยไม่ใช่คำตอบอยู่ที่ว่ามีปัญหาที่รัฐธรรมนูญ เพราะเพียงคำว่ารัฐธรรมนูญไม่สามารถจะทำให้ประชาธิปไตยมีความสมบูรณ์ขึ้นมาได้ แต่เกิดจากคนอย่างเรา ๆ ที่มีจิตสำนึกและจิตวิญญาณประชาธิปไตยเท่านั้น ถ้าหากวัฒนธรรมและประเพณีของไทยยังมีลักษณะเครื่องกั้นทางความคิดประชาธิปไตยแล้ว ก็ยากยิ่งที่จะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ นั่นคือในระดับของผู้นำ และชนชั้นนำจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงออกด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ความเป็นปัจเจกชนต้องให้ความสำคัญกับความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของมนุษยชาติไม่ว่าบุคคลนั้น
ๆ จะเกิดมาจากชาติภูมิใด ๆ ก็ตาม การสำนึกว่าตนเองมีส่วนสำคัญต่อการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย นั่นก็คือการสนใจการเมืองที่นำไปสู่การสร้างสรรค์ และแสวงหาแนวทางในการยกระดับประชาธิปไตยของประชาชนให้มีการพัฒนายิ่งๆ
ขึ้น ไป
ประชาธิปไตยพัฒนาในแง่ของครอบครัว ครอบครัวมีส่วนสร้างสรรค์ประชาธิปไตยอย่างมาก เช่นการร่วมรับประทานอาหารในครอบครัว และพ่อแม่มีการถามลูก ๆ
ให้แสดงความคิดเห็นอยู่เสมอ ๆ และให้กล้าแสดงความคิดเห็นเช่น วันนี้อยากไปดูหนังเรื่องอะไร ทำไมถึงอยากไปดูหนังเรื่องนี้ ทำไมไม่ดูหนังเรื่องอื่นๆ ความเป็นระบบครอบครัวคงไม่ได้หมายความว่าสนใจแต่เรื่องภายในครอบครัวเช่นมีการดูแลสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังต้องสนใจโลกภายนอกครอบครัวซึ่งมีส่วนกระทบต่อวิถีทางประชาธิปไตยด้วย มิฉะนั้นสังคมไทยก็จะกลายเป็นลักษณะบ้านใครอยู่ อู่ใครนอน หรือเป็นสังคมแบบตัวใครตัวมันเท่านั้น แต่มีลักษณะในการร่วมรับฟังความคิดเห็น สนใจเกี่ยวกับข่าวสารการเมือง,
พฤติกรรมที่ดีของประชาธิปไตยของผู้นำ, แบบอย่างที่ดีของนักประชาธิปไตยซึ่งต้องช่วยกันสอนให้ลูกหลานเข้าใจ เพื่อวางพื้นฐานให้รู้จักรักษาสิทธิ
และหน้าที่ของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เช่นการส่งเสริมให้ไปเลือกตั้ง, การเข้าไปร่วมรับฟังความคิดเห็น, พาลูกหลานไปเที่ยวชมรัฐสภา,
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร, การรับฟังอภิปรายการแสดงความคิดเห็นของนักวิจารณ์ทางการเมือง,
นักการเมือง, นักวิชาการที่อภิปรายเกี่ยวกับการเมืองไทย ฯลฯ ครอบครัวที่มีความเป็นอัจฉริยะประชาธิปไตยจึงเป็นครอบครัวตัวอย่างที่ดี และเป็นแบบอย่างของการเป็นผู้มีเหตุมีผล ไม่นิยมการใช้อำนาจ, รู้จักรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ๆ, ยอมรับความแตกต่างที่ก่อให้เกิดประโยชน์,
ถือว่าการมีความแตกต่างทางความคิดช่วยให้เกิดปัญญา
และช่วยสร้างทรัพย์สินในความคิดหลากหลาย ทำให้ประเทศชาติมีความเจริญงอกงาม สังเกตว่าประเทศในเอเชียเช่นเกาหลีใต้ และจีนไต้หวันมักมีความเจริญทางประชาธิปไตย
แม้ว่าสังคมการเมืองของเกาหลีใต้และจีนไต้หวันดูจะรุนแรง แต่เราก็จะเห็นว่าบ้านเมืองของเขามีความเจริญ และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
และมีความเจริญในทุก ๆ ด้าน ดังนั้นการบอกว่าสังคมที่มีความวุ่นวายในประชาธิปไตยแล้วจะทำให้สังคมมีความไม่เจริญรุ่งเรืองนั้นแสดงให้เห็นว่าไม่เป็นจริงอย่างที่กล่าวหาเลย หรือการแสดงบทภาพยนตร์ในเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวจะมีลักษณะของความเป็นประชาธิปไตย เมื่อเกิดปัญหาจะมีการนำมาพูดอย่างเปิดเผยโดยไม่ต้องเกรงใจ
เพื่อให้สิ่งต่าง ๆ นั้นบังเกิดความถูกต้อง มิใช่เป็นสังคมแบบเกรงใจจนเกิดความเกรงกลัวอย่างที่เป็นอยู่ในสังคมแบบไทย
ๆ ทุกวันนี้ จึงทำให้เป็นเหยื่อของนักเผด็จการที่ครอบงำสังคมไทย อันเนื่องจากไม่ได้มีการฝึกความเป็นประชาธิปไตยซึ่งมาจากรากฐานในระบบครอบครัว
หรือที่บ้าน
ประชาธิปไตยพัฒนาในโรงเรียน/สถาบันการศึกษา สถานศึกษาตั้งแต่ระดับโรงเรียน
และสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาล้วนมีความสำคัญต่อการวางรากฐานประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าโรงเรียนและสถาบันการศึกษาจะเป็นองค์กรที่เป็นตัวเบ้าหลอมในเรื่องประชาธิปไตย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในหน่วยงานที่เกี่ยวกับการศึกษายังมีรูปแบบองค์กรแบบราชการ
(bureaucracy) ที่เน้นการทำงานที่สั่งการ
และควบคุม (Control and command) จากบนลงล่าง หากผู้บริหารในแวดวงการศึกษายังติดหรือนิยมแบบอำนาจนิยมก็จะมีบุคลิกภาพที่เน้นตำแหน่งยศศักดิ์ก็จะทำให้ข้าราชการเกิดการหลงลืมตนเองว่าเป็นผู้มีอำนาจมากกว่าประชาชน
และนิยมการบริหารแบบเน้นพวกพ้องก็ยิ่งทำให้ข้าราชการในระดับผู้บริหารเกิดความลุ่มหลงมัวเมาในอำนาจและทำให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก,
นิยมระบบอุปถัมภ์ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถพัฒนาคุณภาพที่สามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่น
ๆบนเวทีโลกได้และในการสอนหนังสือยังมีลักษณะการสอนที่เน้นครูเป็นศูนย์กลาง(Teacher-centered) ก็ยิ่งส่งเสริมบทบาทให้ครูขาดความเป็นนักประชาธิปไตยได้ และผลวิจัยมักเป็นที่ปรากฏว่าในการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษากลับมีกิจกรรมที่ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าในระดับอุดมศึกษาด้วยซ้ำไป ดังนั้นการแข่งขันในระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้เกิดจากมหาวิทยาลัยมีการรับนักศึกษาในปริมาณมากกว่าจำนวนนักศึกษาที่ต้องการเรียน จึงทำให้ระบบการศึกษาสนใจในเรื่องการสร้างรายได้มากกว่าการสร้างคนที่มีคุณภาพ จึงเป็นเรื่องอันตรายในแวงวงทางการศึกษาที่นอกจากไม่ค่อยมีกิจกรรมที่เน้นประชาธิปไตยแก่นักศึกษา แถมผู้บริหารในมหาวิทยาลัยกลับมีลักษณะต่อต้านและไม่ส่งเสริมบรรยากาศแบบประชาธิปไตย ทำให้นักศึกษาในยุคปัจจุบันขาดการตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยแต่กลับไปตื่นตัวในการเมืองภาคประชาชนเท่านั้น ซึ่งหากนักศึกษาเป็นแกนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงความคิดของสังคมจะมีคุณภาพมากกว่า ทั้งนี้นักศึกษามีความรอบรู้และมีเหตุผล
และเข้าใจในอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้ดีกว่า แต่ปัจจุบันหลายมหาวิทยาลัยไม่ค่อยได้ส่งเสริม
จะมีแต่เพียงบางมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ความตื่นตัวกลับไปอยู่กับนักวิชาการ
และอาจารย์เท่านั้น ซึ่งผิดกับประเทศเกาหลีที่นักศึกษามีความตื่นตัวทางการเมืองแบบประชาธิปไตยค่อนข้างสูง มีการจัดระเบียบวินัยในการรณรงค์ทางการเมือง
และร่วมตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารทางการเมือง
และผู้บริหารของภาครัฐได้เป็นอย่างดีและมีวินัย
ทำให้ประเทศเกาหลีมีระดับขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศที่เหนือกว่าประเทศไทยหลายเท่าตัว ทั้ง ๆ ที่ประเทศเกาหลีต่างเป็นประเทศที่เจริญสู้ประเทศไทยไม่ได้ สิ่งนี้สะท้อนถึงการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยในหมู่นักศึกษามีความไม่เข้มแข็งและนับวันยิ่งจะอ่อนแอลงอันเนื่องจากระบบการศึกษาของไทยไม่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตย การถกเถียงอภิปรายแสดงความคิดเห็นในรั้วมหาวิทยาลัยนับวันจะมีน้อยลง ดังนั้นหากผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ปิดกั้นการแสดงออกทางด้านเสรีภาพและคอยกีดกันและสร้างกำแพงประชาธิปไตยแล้วไซร้ สังคมไทยจึงทำให้เกิดจุดอ่อนอันเนื่องจากการเมืองภาคประชาชนยังมีลักษณะขาดความเข้มแข็ง การก่อการจราจรหรือ ม็อบของคนบางกลุ่มบางครั้งก็มุ่งโจมตีแต่เรื่องส่วนตัวมากกว่าการเป็นเวทีที่เน้นย้ำความเป็นประชาธิปไตยที่สร้างจิตสำนึก
แต่บางครั้งกลายเป็นเรื่องยั่วยุให้มีความเกลียดชัง
และสร้างความไม่พอใจให้กับสังคม จึงทำให้ขาดระเบียบวินัยเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่คำนึงถึงสิทธิของผู้อื่น และบางครั้งอาจเป็นการใช้ประชาธิปไตยที่มากล้นจนกลายเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นอีกด้วย ดังนั้นประเทศที่พัฒนาแล้วเราจะพบว่าคนในสังคมจะมีระเบียบวินัยรู้จักกติกา
ไม่ละเมิดกติกา หรือกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง
และมิใช่กฎเกณฑ์นั้นมีไว้ใช้กับคนบางกลุ่มหรือในกลุ่มผู้ถูกปกครองเท่านั้น
แม้แต่ชนชั้นปกครองก็ต้องระวังในการรักษากฎเกณฑ์กติกาไว้ และยิ่งต้องมีจิตสำนึกทางด้านประชาธิปไตยที่มีมากกว่าผู้ถูกปกครอง เพราะหมายถึงการเป็นแม่แบบหรือแบบอย่างของนักประชาธิปไตยที่ผู้ถูกปกครองสามารถนำไปใช้ได้ถูกต้อง เปรียบเสมือนแม่พิมพ์ประชาธิปไตย
มิใช่แม่ปูประชาธิปไตยจึงจะทำให้การเรียนรู้ประชาธิปไตยประสบความสำเร็จได้หากผู้นำเป็นตัวอย่างที่ดีอยู่แล้ว ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรบรรจุหลักสูตรที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยในทุกวิชา
และสอดแทรกความคิดรวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมการมีส่วนร่วมของผู้เรียนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง(Student-Centred) และจะเป็นการบริหารแบบสมดุล
แทนที่จะเน้นหลักสูตรที่จบไปเพื่อทำมาหากินแต่เพียงอย่างเดียว หรือเน้นเศรษฐกิจโดยไม่เน้นการบริหารแบบประชาธิปไตยก็จะทำให้คนมุ่งเน้นแต่วัตถุนิยมหรือปากท้องเท่านั้น ทำให้ความมีอารยะของการอยู่ร่วมกันมีความไม่ประณีตมากขึ้น เพราะคนเราอาจเพาะความเห็นแก่ตัวมากกว่าชาติบ้านเมือง
และนำไปสู่การขาดจริยธรรมเพราะเน้นแต่ความร่ำรวยของตนเอง จนละเลยหรือลืมหน้าที่ของการเป็นพลเมืองดีทางด้านประชาธิปไตยไปได้ นอกจากนี้ยังอาจเป็นการเพาะกิเลสในตัวคนมากขึ้น ทำให้เกิดการอยากได้ใคร่ดีในวิถีทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งคนในสังคมทุกคนควรตื่นตัว
และหาวิธีแก้ไขกฎระเบียบกฎเกณฑ์ที่ขัดต่อวิถีทางประชาธิปไตยของคนส่วนใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันพบว่าคุณธรรม และจริยธรรมของคนในสังคมมีความเสื่อมโทรมไปมาก ผู้กำหนดนโยบายของรัฐอาจมีความตั้งใจดี
แต่ขาดการบริหารระบบที่เชื่อมโยงในทุกภาคส่วนแล้วก็จะทำให้เกิดความหละหลวมของระบบ ทำให้เกิดปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงในทุกหย่อมหญ้า ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณในการบริการประชาชนไปอย่างน่าเสียดาย
และจากการจัดอันดับการคอรัปชั่นในเอเชียเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาปรากฏว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับการคอรัปชั่นอันดับที่สองรองจากประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งคะแนนเต็ม 10 คะแนน ของไทยได้คะแนน 8.1 จึงเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น
หรือลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นทางการเมือง
บทสรุป
ในยุคปัจจุบันการปกครองประชาธิปไตยที่เกิดความล้มเหลวอันเนื่องจากประชาชนมีความเข้าใจการปกครองประชาธิปไตยค่อนข้างน้อย
โดยเฉพาะการขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประชาธิปไตยจึงมีลักษณะล้มลุกคลุกคลานโดยการรัฐประหารโดยกลุ่มทหาร
โดยมีความหวังว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้ แต่ก็พบว่ารัฐบาลในยุคปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ,การเมือง,
และสังคมให้มีความมั่นคง และมีวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยได้ ซึ่งผู้เขียนมีทัศนะว่าต้องส่งเสริมการพัฒนาในด้านประชาธิปไตยโดยเริ่มต้นจากครอบครัว,สถาบันการศึกษา
และองค์การทั้งภาครัฐและเอกชนต้องช่วยกันรณรงค์ส่งเสริมเพื่อความเจริญก้าวหน้าร่วมกัน
เพื่อนำไปสู่การมีประชาธิปไตยอัจฉริยะในท้ายที่สุดในบทความต่อไป ซึ่งผู้เขียนจะนำแนวคิดประชาธิปไตยอัจฉริยะมาพัฒนาประชาธิปไตยต่อไปซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาจิตสำนึกประชาธิปไตยที่ประชาชนมีความเฉลียวฉลาด
ซึ่งต้องอาศัยระบบการศึกษาเป็นกลไกผลักดัน
และเข้าใจประชาธิปไตยแบบหยั่งรากลึกต่อไป
รายการอ้างอิง
ประจักษ
ก้องกีรติ “การเมืองของความทรงจำภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (2501-2516) : การทําลาย/การ
รื้อฟื้นนอดีตและแรงบันดาลใจทางการเมือง” รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 (2546)
คอลัมน์ต่างประเทศ ,อันดับประชาธิปไตยยัง
“รั้งท้าย” ผู้ก่อตั้งอาเซียน, Voice Online, 14 มิถุนายน 2019.
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (2553). การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3.
กรุงเทพฯ: วิภาษา.
Carlton C. Rodee,Introduction to political science,
Hardcover,1975
Dahl, Robert A. Ian
Shapiro & Jose Antonio Cheibub. (2003). The Democracy Sourcebook. MIT
Huntington,
Sumuel P. (1966/2011). The Clash of Civilization and the
Remaking of World Order. New York: Simon&Schuste.
Jose Pedro Matos Fernandes,
Albero Filipe Aruaujo, Angel Garcia de Dujo, Democracy,
intelligence and (sound) education in the perspective of John Dewey. http://dx.doi.org/10.1590/1678-463420170916925.
Lindsay, A. D. (1929)
1951, The Essentials of Democracy. 2d ed. Oxford Univ. Press.
Locke, John (1988), Two
Treatises of Government, 3rd edition, Cambridge University
Press.
Meyer-Resende,M.(2011).
International Consensus:Essential Elements of Democracy. Retrieved 20 October
2014 from http://www.democracy-reporting.org/files/essential-element-of_democracy--/2.pdf
Stephens,
John D (2005), Democratization and Social Policy
Development in Advanced Capitalist Societies, University of North Carolina
Putnam, Robert. (2001). Making
Democracy Work. Princeton University Press.
คอลัมน์ต่างประเทศ ,อันดับประชาธิปไตยยัง
“รั้งท้าย” ผู้ก่อตั้งอาเซียน, Voice Online, 14 มิถุนายน 2019.
----------------------------
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น