น้ำท่วมครั้งนี้สะท้อนความคิดการแก้ปัญหาอย่างไร?

      

        ดูเหมือนการแก้ปัญหาน้ำท่วมจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นปีแล้วปีเล่า แต่ก็พบว่ายังขาดการเอาใจใส่กับภัยพิบัติธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง  หรือการมีมาตรการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เข้าทำนองว่ามีปัญหาเกิดขึ้นมาก็แก้ปัญหาปลายเหตุไปทีหนึ่ง   เพราะหากมีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบแล้วปัญหาน้ำท่วมนี้คงจะไม่เกิดขึ้นอย่างสาหัสสากรรจ์ขนาดนี้  ซึ่งน่าจะมีสาเหตุดังนี้คือ
         ในด้านการเมือง  เรามีปัญหาการขัดแย้งจนละเลยปัญหาภัยพิบัติที่มาถึง ในขณะที่นักการเมืองหรือนักบริหารส่วนท้องถิ่น สนใจแต่การสร้างถนนที่พร้อมจะต้องทำกันบ่อยครั้ง ทั้ง ๆ ที่มีเสียงเตือนเกี่ยวกับภัยพิบัติน้ำท่วมจากการคาดคะเนพยากรณ์ของผู้เชี่ยวชาญ   สภาพการเมืองที่ขัดแย้งแบ่งขั้วทำให้สมองไม่ได้มาคิดแก้ปัญหาสำคัญของชาติ  เพราะมัวแต่การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน จนเป็นผลทำให้ประเทศชาติเสียหายไปอย่างมาก  ซึ่งหากมีการวางแผนแต่เนิ่น ๆ และแก้อย่างเป็นระบบ และเป็นเชิงบูรนาการ ก็คงไม่เกิดปัญหาอย่างใหญ่หลวงถึงขนาดนี้
         ในด้านระบบราชการ โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศ กับผู้ดูแลเขื่อนไม่ได้ทำงานประสานงานกันอย่างจริงจัง หรือหน่วยงานชลประทาน เพราะการทำงานระบบราชการมัวมุ่งแต่การเอาใจเจ้านายจนไม่ได้สนใจรับใช้ประชาชนซึ่งกินภาษีจากคนส่วนใหญ่ของประเทศ นับว่าเป็นการจ้างบุคลากร หรือเจ้าหน้าที่ไม่คุ้มค่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งที่มีเขื่อนมากมายในประเทศนี้   การดูแลเกี่ยวกับปริมาณน้ำหรือการปล่อยน้ำจากเขื่อนขาดหลักวิชาการหรือขาดการคาดคะเนให้สอดคล้องกับกรมอุตุนิยม, กับงานชลประทาน, หรือวิศวกรรมทางน้ำ ฯลฯ ทำให้การทำงานเป็นแบบต่างคนต่างคิด,ต่างคนต่างทำ ขาดการทำงานแบบคิดเชิงบูรนาการ หรือการมีโรดแมปทางด้านการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ   จะมีผู้รอบรู้อยู่เพียงไม่กี่คน แต่บางครั้งมีการปกปิดข้อมูลกันเอง และไม่มีระบบการรายงานอย่างดี  ทำให้ประเทศไทยเสียหายอย่างยับเยินอย่างไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ชาติไทย   หากเป็นความผิดพลาดในการทำงานครั้งนี้ก็นับว่าเป็นบาปกรรมของผู้กระทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งไม่คุ้มกับการที่ได้ทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม และป้องกันปัญหาไม่ให้บานปลาย    ถึงเวลาที่ประเทศไทยไม่ควรทำงานโดยเลือกปฏิบัติแบบกบเลือกนาย หรือมองแต่ผู้ให้ผลประโยชน์เท่านั้น นับว่าเป็นความคิดที่คับแคบทางปัญญาอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่เกิดจากระบบอุปถัมภ์ของระบบราชการทั้งสิ้น   จึงควรยกเครื่องระบบราชการทั้งระบบได้แล้ว  และจะกลายเป็นการบั่นทอนประสิทธิภาพการทำงานทั้งระบบหากไม่มีการแก้ไข หรือไม่ได้จัดระเบียบวาระแห่งชาติ  ซึ่งธรรมชาติก็ได้สอนคนในประเทศนี้พอสมควร
          การจัดการความรู้ (Knowledge Management) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำอย่างเป็นระบบ หากมีการผลัดเปลี่ยนรัฐบาล จะต้องมีข้อมูลที่พร้อมมูลอยู่ถึงรัฐบาลชุดใหม่ในการเก็บรวบรวมข้อมูล และควรมีการเร่งรายงานอย่างเร่งด่วน  และต้องตั้งทีมงานแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง  โดยต้องมีผู้เชี่ยวชาญหรือหาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ซึ่งจะคุ้มค่ากว่าการปล่อยให้สูญเสียขนาดนี้   ซึ่งไม่สามารถกล่าวโทษรัฐบาลปัจจุบันนี้   ดูเหมือนว่าผู้นำรัฐบาลต้องวิ่งประสานงานอย่างวุ่นวาย เพราะขาดผู้ประสานงานจากภาคราชการที่เต็มใจแก้ปัญหาในครั้งนี้   เท่ากับเป็นการซ้ำเติมปัญหาประเทศให้มากขึ้น  และข้าราชการที่เกี่ยวข้องบางครั้งก็มีพฤติกรรมแบบธุระไม่ใช่ หรือใส่เกียร์ว่างก็ทำให้ประเทศไทยเสียหายหลายแสนล้าน    ดังนั้นการจัดการภัยพิบัติจะไม่มีการอิงแอบเกี่ยวกับการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย  แต่ต้องถือว่าเป็นคนไทยด้วยกันต้องร่วมมือกันดูแล
         ในด้านประชาชนที่จะต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมนั้นว่า  รัฐบาลจะได้ชดเชยกับการเสียหาย เพื่อแลกกับการระวังในเขตเทศบาล หรือในเขตเมือง เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าไม่ได้แบ่งแยก แต่เน้นการรักษาเขตเศรษฐกิจที่มีผลกระทบพิเศษของประเทศไทย   และที่สำคัญนิคมอุตสาหกรรมควรมีการวางระบบป้องกันภัยน้ำท่วมอย่างจริงจัง เช่นการก่อแนวเขตพนังกั้นได้อย่างรวดเร็ว และสามารถแก้ปัญหาหรือฟื้นฟูโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ   ซึ่งเรื่องนี้ภายหลังจากน้ำลดลง  รัฐบาลต้องหาแนวทางแก้ไขอย่างเต็มที่และต่อเนื่องเพื่อรักษาระดับการลงทุน หรือรักษาสภาพแวดล้อม      ดังนั้นนักการเมืองไม่ควรเน้นการทำถนนโดยไม่มองเรื่องน้ำท่วมอีกต่อไป เพราะหากน้ำท่วมแล้ว ถนนก็จะเสียหายอย่างมาก  ดังนั้นต้องแก้ที่สาเหตุก่อน      ซึ่งคิดว่าต้องทำอย่างต่อเนื่อง และทำการทดสอบการผจญภัยพิบัติแบบจำลอง โดยใช้เทคโนโลยี่ที่จำลองสถานการณ์จริง หรือการจัดทำแบบจำลองเมืองหากเกิดน้ำท่วมแล้วจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร โดยมีการออกแบบความคิดแก้ปัญหาไว้ล่วงหน้า และมีการลงทุนแก้ัปัญหาน้ำท่วมจากแนวคิดทำแก้มลิงแบบขุดใต้ดินโดยใช้อุโมงค์เพื่อรองรับน้ำแต่ละจุด   หรือการจัดทำกำแพงเขื่อนแบบประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ระดับน้ำทะเลสูง , หรือการขุดคลองลึกลงหรือกว้างขึ้น และต้องมีแผนเชื่อมทั้งระบบทั้งประเทศไทย   โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องร่วมประชุมวางแผนในภาพรวม และการประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง    ดังนั้นรัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเรื่องนี้   โดยอาจมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีไปดำเนินการ  เพราะรัฐบาลต้องทำหน้าที่หลายประการ      ผลจากปัญหานี้สะท้อนว่าประเทศไทยขาดการทำงานอย่างเป็นระบบ และคิดแบบเชิงบูรนาการ,  ข้าราชการทำงานแบบเหมือนกบเลือกนาย ดังนั้นต้องสร้างระบบราชการเป็นแบบมืออาชีพ และรับใช้ราษฎรอย่างแท้จริง  และ้ต้องอบรมบ่มเพาะจิตสำนึกในสภาวะการจัดการเพื่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ของรัฐบาล
           สรุป ข้อเขียนนี้มิได้มีเจตนาที่จะทำให้ผู้ปฏิับัิติงานในทุกระดับขาดกำลังใจ  แต่เป็นการให้ข้อคิด หรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ   เพราะหากคนไทยไม่ร่วมมือกัน หรือขาดความสามัคคี  ปัญหาใหญ่ ๆ ของชาติก็ไม่สามารถบรรลุความสำเร็จได้   และการทำงานมิควรมุ่งที่ตัวบุคคล แต่มุ่งที่หลักการ,อุดมการณ์ มากกว่าผลประโยชน์ที่ทำให้มนุษย์เกิดความลุ่มหลงในอัตตา อันเป็นที่มาของการขาดจิตสำนึกโดยไม่รู้ตัว

       

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

108 คำคมขงเบ้ง คำคมสอนใจ จากขงเบ้ง

ระบบการเมืองที่ดีเหมือนปลาในอ่างแก้วที่มองเห็นตัวปลาชัดเจน

ตัวแบบงบประมาณผูกพัน (Beyond Budgeting) ตอนที่หนึ่ง