จิตสำนึกนักการเมืองที่ดีในยุคใหม่

    ปัจจุบันความตื่นตัวทางการเมืองมีมากมายทั่วประเทศ เป็นเหตุให้ประชาชนมีความต้องการให้นักการเมืองได้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากขึ้น  ทำให้การบริหารรัฐบาลควรจัดระบบนักการเมืองให้มีจิตสำนึกในทางการเมืองให้มากขึ้น  ในลักษณะอุดมการณ์ประชาธิปไตย และผลงานของรัฐบาลจะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชน  หากเปรียบรัฐบาลเป็นเรือหรือรัฐนาวาแล้ว สภาพการเมืองมีฝ่ายค้าน และกลุ่มต่าง ๆ คอยทำให้เรือโคลงเคลง ทำให้การบริหารของรัฐบาลต้องฝ่ามรสุมทางการเมืองอย่างลำบาก  ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ประชาชนกำลังจับตามองคือเรื่องจิตสำนึกประชาธิปไตย และสปิริตของนักการเมืองจำเป็นต้องมีการพัฒนา และเป็นแม่แบบแห่งการพัฒนาประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  ซึ่งนักการเมืองที่ดีควรสร้างจิตสำนึกให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ดังนี้
        1. ในระดับรัฐบาล ซึ่งเป็นรัฐบาลที่จัดตั้งภายใต้สถานการณ์ที่มีความขัดแย้งนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ต้องทำงานเป็นทีมเวอร์ค การฟอร์มรัฐบาลมีลักษณะใช้คนให้เหมาะสมกับงานโดยพิจารณาถึงสมรรถนะของบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง ซึ่งในขณะนี้เป็นโอกาสที่จะฟอร์มทีมรัฐบาลเหมือนเล่นฟุตบอลที่มีทั้งกองหน้า, กองกลาง,และกองหลัง การทำงานใช้หลักอุดมคติทำงานเพื่อประเทศชาติภายใต้วิกฤติการเมือง มีจิตสำนึกรับใช้ประชาชนทุกระดับชั้น มีการจัดการประชุมอยู่เป็นประจำในนโยบายเร่งด่วน, นโยบายสาธารณะที่มีการออกแบบมาอย่างดีโดยผูกกับฐานความต้องการของประชาชน    
   2.ในระดับรัฐสภาที่เป็นสส.ฝ่ายรัฐบาล การทำงานถือหลักหลายหัวดีกว่าหัวเดียว,พลพรรค
การเมืองที่เป็นมุ้งเล็ก,มุ้งใหญ่ ต้องหาผู้ประสานงานที่ดีหรือวิปฝ่ายรัฐบาลต้องเข้มแข็งตอบโจทย์ได้ดีในการตอบโต้ฝ่ายค้านต้องจัดเตรียมข้อมูลมาเป็นอย่างดี ไม่ปล่อยให้เิกิดช่องว่างในการโจมตี และพยายามสร้างความรู้สึกที่ดีเป็นมิตรกับ สส.ฝ่ายค้านผู้ที่มีจิตใจเป็นกลางและไม่เลือกข้าง การออกกฎหมายเพื่อให้กฎหมายเป็นกฎหมายที่ดี, มีความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและลดกฎหมายที่เป็นสองมาตรฐาน โดยการมีระบบที่คานอำนาจเช่นออกกฏหมายการแต่งตั้งตุลาการต่าง ๆ ควรจะมีบุคคลหลายฝ่าย หรือคณะลุกขุนคอยช่วยตรวจสอบเพื่อให้การดำเนินคดีต่างๆ บริสุทธิยุติธรรม ซึ่งบุคคลที่เป็นฝ่ายตุลาการจะต้องมีคุณธรรม,จริยธรรมสูงกว่าวิชาชีพอื่น ๆทั้งหมด หากตาชั่งเอนเอียงก็จะทำให้ภาพพจน์เสียหายต่อการเมืองแบบประชาธิปไตย
       3. ในระดับฝ่ายค้าน ผู้ที่เป็นฝ่ายค้านควรค้านอย่างสร้างสรรค์ มีจิตสำนึกการเืมืองแบบประชาธิปไตย ไม่มีอคติต่อการเมืองของพรรคคู่แข่ง มีสปิริตเหมือนนักกีฬา ในลักษณะรู้แพ้,รู้ชนะ,รู้อภัย  หากฝ่ายค้านทำหน้าที่ดีประชาชนจะมองเห็นผลงาน และจะได้รับความชอบธรรมโดยไม่ควรใช้วิธีการล้มอำนาจ หรือการสร้างพันธมิตรกับเหล่าทัพเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้ภาพพจน์ของข้าราชการทหารเสียหาย เพราะมีนายทหารที่ดี ๆ จำนวนมากที่รักประชาธิปไตย  ดังนั้นฝ่ายค้านควรเล่นตามกติกา ไม่ควรเล่นนอกกติกา ไม่ควรแสวงหากรรมการมาเข้าข้าง การทำหน้าที่อยู่ทีการหาข้อเท็จจริง และตัวบทกฎหมายที่สนับสนุนเท่านั้น แต่ไม่ควรใช้วิธีการกลั่นแกล้งทางการเมืองอย่างไม่ถูกต้อง หากรัฐบาลทำหน้าที่ได้ดีก็ควรจะชื่นชมบ้าง มิใช่เป็นการติหรือการค้านอย่างเดียว เว้นแต่ผลงานไม่ดี และไม่ควรบีบบังคับโดยใช้องค์กรอิสระทางการเมืองมาเป็นเครื่องมือขับไล่หรือล้มล้างรัฐบาล ซึ่งองค์กรอิสระในยุคปัจจุบันควรเปลี่ยนท่าที และจิตสำนึกทางการเมืองแบบประชาธิปไตยได้แล้ว เพราะไม่เช่นนั้นองค์กรอิสระจะกลายเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองมากกว่ารัฐบาล  ดังนั้นใครผิดว่าตามผิด  แต่ควรยกเลิกระบบการยุบพรรคการเมือง เพราะเป็นการสร้างโอกาสใส่ร้าย หรือใช้องค์กรอิสระเป็นเครื่องมือได้ ควรมีระบบองค์กรกลางตรวจสอบองค์กรอิสระ และตุลาการอีกชั้นหนึ่ง เพื่อพิจารณาว่าคำตัดสินนั้นบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ ส่วนกรณีศาลควรมีคณะลูกขุนมาเป็นเครื่องถ่วงดุลเพื่อไม่ให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งมีล้นเกินไป
         4. การทำงานของนักการเมืองไม่ควรอิงตัวบุคคล หรือสถาบันเอามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ควรแยกบทบาทและหน้าที่อย่างถูกต้อง แต่จิตสำนึกควรยึดหลักการประชาธิปไตย และนอกจากนี้นักการเมืองควรมีส่วนกระตุ้นให้มีวาระแห่งชาติว่าด้วยประชาธิปไตย เช่นควรมีกระทรวงประชาธิปไตยเกิดขึ้น  ประกอบด้วยบุคคลทุกภาคส่วน,ทุกวิชาชีพเข้ามามีบทบาทนำเสนอการเมือง หรือการแก้กฎหมาย, การร่างรัฐธรรมนุญหรือกติกาสังคมให้ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย เพื่อขจัดจิตสำนึกที่ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย  โดยถือว่่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกัน, มีเสรีภาพ,มีภราดรภาพ และการปกครองประชาธิปไตยอำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชน ไม่ควรอ้างอิงอำนาจอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง นี่แหละคือการสร้างจิตสำนึก และจิตวิญญานของนักประชาธิปไตย และที่สำคัญควรสร้างอัจฉริยะประชาธิปไตยในหลักสูตรการศึกษาทุกหน่วยงานตั้งแต่ระดับประถมศึกษา,มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา  ผู้จบหลักสูตรหากไม่เรียนหลักสูตรประชาธิปไตยก็ถือว่าไม่จบหลักสูตร และถือเป็นหน้าที่พลเมืองต้องเข้าใจประชาธิปไตย ในอดีตที่ผ่านมาเกือบทุกรัฐบาลมองข้ามเรื่องนี้ และกลายเป็นปัญหาในปัจจุบัน
         5. ในระดับองค์กรอิสระ ควรมีการปฏิรูป และสังคายนาอย่างขนานใหญ่ เพราะถูกโจมตีจากประชาชนว่าไม่ได้วางตนเป็นกลาง อาจเป็นเพราะว่าองค์กรอิสระเป็นข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ จิตสำนึกทางการเมืองไม่ได้ผูกติดกับการเมืองประชาธิปไตย แต่การปฏิบัิติงานบางครั้งเหมือนมีการเลือกปฏิบัติกับคนบางกลุ่ม การเข้าถึงผู้มีอำนาจบางกลุ่มเข้าถึงง่าย บางกลุ่มเข้าถึงยาก มีการใช้ระบบอุปถัมภ์  แม้กระทั่งการสอบเข้าเป็นผู้พิพากษายังมีการลักลอบข้อสอบมาทำ หรือมีการวิ่งเต้นเส้นสาย ทำให้การตัดสินอรรถคดีจึงเกิดบุคคลจากผู้มีอำนาจแต่งตั้งเข้ามา  จึงไม่สามารถรักษาความเป็นกลางได้  และคดีที่เข้าสู่ศาลมีคดีล้นศาลมากเกินไป ควรมีการจัดการคดีมโนสาเร่ หรือเป็นระบบพบกันครึ่งทางหากสามารถประนีประนอมได้
          6. ในระดับนักการเมืองท้องถิ่น ในรูป อบต., เทศบาล,สุขาภิบาล, เทศบาลนคร รวมถึงการเมืองส่วนท้องถิ่นในรุปพิเศษเช่นกรุงเทพมหานคร และพัทยา  ซึ่งมีความสำคัญต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ไม่ควรวางตนเป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองระดับชาติ แต่ควรปฏิบัิติงานที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาลในลักษณะความชอบพอพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ก็จริง แต่บทบาทก็ควรต้องระวังไ่ม่ให้การเมืองระดับชาติแทรกแซงบทบาทการเมืองของฝ่ายท้องถิ่น  เช่นการจัดสรรงบประมาณควรเป็นระบบที่พิจารณาจัดสรรแบบมีมาตรฐาน เช่นดูจำนวนประชากร,รายได้ชุมชนท้องถิ่น,การจัดเก็บภาษีค่าธรรมเนียม, การจัดสรรให้เป็นไปตามการช่วยเหลือท้องถิ่นที่ขาดแคลนงบประมาณหรือในท้องถิ่นยากจน ควรยกระดับการพัฒนาก่อน การจัดสรรก็ควรช่วยเหลือให้มากกว่าท้องถิ่นที่ประชาชนมีฐานะเศรษฐกิจดี  และจัดสรรโดยการเกลี่ยงบประมาณให้ทั่วถึง มีระบบการตรวจสอบจากภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมทั้งการเมืองระดับชาติ, ภูมิภาค,ท้องถิ่น
       7. ในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมีการเมืองในมหาวิทยาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นของประชาชน ควรกำหนดให้มีตัวแทนประชาชนเข้าไปมีบทบาทในการตรวจสอบ, การเข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมผู้บริหารมหาวิทยาลัย มิใช่ใช้ข้าราชการแต่เพียงอย่างเดียว หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่มีบทบาทสวมหมวกหลายใบ และหลายมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้บริหารมหาวิทยาลัยเพื่อปวงชน หรือสนับสนุนการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการแก้ไขอย่างมาก เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งของประชาชนและสังคม  ไม่ใช่มหาวิทยาลัยแยกตัวจากประชาชน  ทำให้ระบบการศึกษาจึงไม่ได้อิงต่อการช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง
         สรุป จิตสำนึกทางการเมืองควรปลูกฝังในทุกระดับชั้นทางสังคม และควรเพิ่มพลังอำนาจทางการเมืองให้แก่ประชาชน เพราะประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนที่รักประชาธิปไตย ไม่ผูกติดกับเรื่องผลประโยชน์ใด ๆ  ก็จะกลายเป็นสังคมมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนผลักดันความก้าวหน้าของสังคมอย่างมหาศาส และสร้างปัญญาชนให้เป็นนักประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นขุนนางวิชาการอย่างที่เป็นทุกวันนี้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ระบบการเมืองที่ดีเหมือนปลาในอ่างแก้วที่มองเห็นตัวปลาชัดเจน

108 คำคมขงเบ้ง คำคมสอนใจ จากขงเบ้ง

ตัวแบบงบประมาณผูกพัน (Beyond Budgeting) ตอนที่หนึ่ง